มรณะภัย...ผู้ใหญ่ลืมลูก  !!!

บทความโดย  ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์

 

 

                จากสารพัดสาเหตุอันนำมาซึ่ง “ภัย” ที่มักเกิดขึ้นกับเด็กๆนั้น  มีอยู่สาเหตุหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นบ่อยจนน่าตกใจ หนำซ้ำยังปรากฏเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ  นั่นคือ ความ “ขี้หลงขี้ลืม”ของผู้ใหญ่ได้นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของเด็กๆ !

                ที่ตกเป็นข่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกเมื่อไม่นานมานี้ก็เช่น กรณี  เด็กโดนขังไว้ในรถเพราะผู้ใหญ่ “ลืม” หรือ “นึกไปเอง”ว่าเด็กออกมาจากรถแล้ว จนถึงกับทำให้เด็กต้องเสียชีวิตอย่างทรมาน หลังจากต้องเผชิญกับความร้อนระอุในรถติดต่อกันนานหลายชั่วโมง จนเด็กเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และ หยุดหายใจ

 

 

·       น้องพ๊อตเตอร์ วัย3 ขวบ เสียชีวิตเนื่องจากถูกขังอยู่ในรถปิกอัพ รับ-ส่งนักเรียนของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง  (14 พค. 2556  อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ)

 

·       น้อยเอย วัย 3 ขวบ ซึ่งถูกลืมไว้บนรถตู้โรงเรียนอนุบาล  จ.สมุทรปราการ เป็นเวลากว่า 7 ชั่วโมง ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด นอนพักรักษาตัวเป็นเจ้าหญิงนิทรา ตั้งแต่วันที่ 3 เมย.56 และ เสียชีวิตวันที่ 17 เมย.56

 

 

·       คุณพ่อคนหนึ่งซึ่งเป็นห่วงงานเป็นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเมื่อขับรถมาจอดใกล้ที่ทำงาน(หน้าร้านขายของชำ ) ก็รีบลงจากรถแล้วฉิวไปยังห้องประชุมทันที 

 

โดยลืมไปสนิทเลยว่า...ยังมีเด็กหญิงวัย 3 ขวบ(ลูกสาวของเพื่อนบ้าน) นอนหลับอยู่ในรถ บริเวณพื้นหน้าเบาะหลัง ! กว่าจะรู้ก็ในเวลาเลิกประชุมช่วงบ่ายแก่ๆ เมื่อพบว่าลูกสาวของเพื่อนบ้าน  นอนเสียชีวิต น้ำลายฟูมปาก มีเลือดออกทางหูและปาก ในมือขวายังกอดขวดน้ำ ( 8 ก.ย. 51 จ.มุกดาหาร)

 

ข้อแนะนำในกรณีดังกล่าวมีดังนี้ครับ

 

1 ..... แม้จะติดค้างอยู่ในรถ ก็ยังอยู่ได้นาน แต่ที่เด็กต้องตายก็เพราะ ความร้อนภายในรถที่สูงขึ้น (เพียง 5 นาทีอุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถอยู่ในรถได้) หากอยู่ในรถผ่านไป 10 นาที ร่างกายจะย่ำแย่ และ ภายใน 30 นาทีก็จะถึงขั้นเสียชีวิต

 

 

               2.....  ปกติแล้วร่างกายจะรักษาอุณหภูมิร่างกายไว้ที่ 37 องศาเซลเซียส เมื่อต้องติดอยู่ในรถที่ความร้อนสูงขึ้น ช่วงใหม่ๆ ร่างกายจะขับความร้อนออกมาในรูปแบบของเหงื่อ แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งร่างกายจะทนไม่ไหว ทำให้ร่างกายหยุดทำงาน เกิดภาวะเลือดเป็นกรด หยุดหายใจและอวัยวะทุกอย่างหยุดทำงาน หากพบเจอเด็กที่ติดในรถได้เร็วจะเจอในสภาพที่เด็กตัวแดง แต่หากนานเด็กจะตัวซีดและเสียชีวิตได้ครับ

 

 

              3….    ดังนั้น... จึงห้ามทิ้งลูกไว้ในรถที่จอดกลางแจ้งเป็นอันขาด (ไม่ว่าจะลืมหรือไม่ ) แม้จะอยากจะลงไปธุระนอกรถเร็วหรือช้าก็ห้ามเด็ดขาดครับ หากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่มากับเด็กต้องลงจากรถต้องนำเด็กลงไปด้วยทุกครั้ง

 

 

4….. แม้แต่ จะขอเปิดหน้าต่าง เหลือช่องไว้แล้วให้เด็กอยู่ภายใน ด้วยเข้าใจเองว่า การกระทำเช่นนี้เด็กจะปลอดภัย จากการขาดอากาศหายใจ  แต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นละครับว่า ...อย่าได้แต่ห่วงอย่างเดียวว่า เด็กจะขาดอากาศหายใจ แต่จะต้องห่วงใยให้มากๆ กับกรณีที่เด็กเสียชีวิตจากความร้อนสูง

 

 

5 .....  การเปิดแง้มหน้าต่างรถทิ้งไว้ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า ความร้อนภายในรถจะไม่สูงขึ้นและช่วยให้เด็กปลอดภัยได้ หรือ แม้แต่การรถจอดในที่ร่ม ก็ใช้ว่าเด็กๆจะปลอดภัยไร้กังวล เพราะความร้อนก็ขึ้นสูงปรี๊ด จนเด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นกัน ( แม้อาจจะใช้เวลานานกว่ารถที่จอดกลางแจ้ง )

 

                นอกจากนั้น เหตุแห่งการ “จมน้ำตาย” หลายต่อหลายกรณีก็เกิดจากความเผอเรอ-ขี้หลงขี้ลืมของผู้ใหญ่

 

·       ในขณะที่แม่กำลังอาบน้ำให้ด.ช.กร( 3 ขวบ) ในห้องน้ำ เจ้าหนี้ได้มาเรียกที่หน้าบ้านเพื่อเก็บเงินผ่อนรองเท้าของพ่อ แม่จึงเดินออกไปคุยด้วย ซึ่งเผลอคุยนานเกือบ10 นาที จนลืมไปว่าปล่อยให้น้องกรอยู่ในห้องน้ำตามลำพัง เมื่อเจ้าหนี้กลับ แม่เดินไปที่ห้องน้ำก็พบว่า “น้องกรขาทั้งสองข้างตั้งขึ้นชี้ฟ้า และศีรษะจมลงไปในถังน้ำ !”  และเด็กเสียชีวิตหลังจากส่งไปที่โรงพยาบาลราว 2 -3 ชั่วโมง

 

·       เมื่อหลายปีก่อน หมู่บ้านย่านอ่อนนุช มีปัญหาน้ำไหลไม่ค่อยเป็นเวลาเพราะกำลังซ่อมท่อครั้งใหญ่ ผู้คนจึงต้องพากันรองน้ำใช้กันอย่างทุลักทุเล ใครมีภาชนะอะไรที่พอใส่น้ำได้ต่างก็ระดมกันออกมารองน้ำไว้ใช้ ในเวลาน้ำไม่ไหล แต่นั่นอาจทำให้เกิดความคุ้นชินกับการมีภาชนะรองน้ำอยู่รอบบ้าน โดยหลงลืมไปว่ามันอาจกลายเป็นจุดเสี่ยง ...และแล้วมันก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อคุณแม่ท่านหนึ่งมัวง่วนอยู่กับการทำงานบ้าน ในขณะที่ลูกสาววัย8 เดือนกำลังคลานต้วมเตี้ยมไปมาทั่วบ้าน  กว่าคุณแม่จะรู้ตัวอีกทีว่าลูกหายไปไหน ก็มาพบลูกนอนคว่ำหน้าแน่นิ่งศีรษะจุ่มลงไปในกะละมังที่รองน้ำไว้  ลูกน้อยเนื้อตัวซีดเชียว คุณแม่พยายามปฐมพยาบาลโดยการแบกพาดบ่าแล้วเขย่าๆ(ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด) เมื่อเห็นว่าลูกไม่ฟื้น จึงรีบส่งไปโรงพยาบาล

เด็กเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู แล้ว 7วันต่อมาเด็กน้อยก็เสียชีวิต ด้วยอาการติดเชื้อที่ปอด

 

                เด็กไทยของเรามีสถิติการจมน้ำตายที่น่ากลัวมิใช่น้อย เพราะอัตราการตาย อยู่ที่ 10 ต่อ 7 (ในประชากร 1 แสนคน) โดยเด็กๆวัย 1 4 ขวบมีตัวเลขจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่าเด็กญึ่ปุ่น 3 เท่า และสูงกว่าเด็กสวีเดนอยู่ถึง 7 เท่า)

 

                และที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ  จุดที่เด็กๆของเราจมน้ำเสียชีวิตก็คือ แหล่งน้ำภายในบ้าน-หรือใกล้ๆบ้าน...   (เช่น  ส้วมชักโครกที่เปิดฝาไว้, ถังน้ำ,กะละมังปริ่มน้ำ,โอ่งน้ำไม่ปิดฝา,บ่อน้ำไม่มีฝาปิดไม่มีรั้วกั้น ,สระว่ายน้ำ, ลำคลอง, คลองระบายน้ำ, แม่น้ำ ...ฯลฯ...)

 

ดังนั้นโปรดป้องกันไว้ตั้งแต่บัดนี้ครับ

1  )  อย่าปล่อยให้ลูกคลาดสายตา    โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบยิ่งต้องดูแลกันใกล้ชิด ไม่ควรวางใจว่าเด็กวัยนี้จะหลบหลีกอันตรายต่างๆที่อยู่รอบตัวได้เป็นอย่างดี

อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในน้ำหรืออยู่ใกล้น้ำเพียงลำพัง ไม่ว่าจะเป็นอ่างน้ำในบ้าน หรือบ่อน้ำ สระน้ำนอกบ้านไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงใดก็ตาม ดังนั้นถ้าคุณมีธุระ เช่น ไปรับโทรศัพท์ ,มีคนมาเยี่ยม,ไปดูทีวี ก็ให้อุ้มลูกออกไปด้วยทุกครั้งครับ

 

                2  )  ทำบ้านปลอดภัยให้ลูกรัก   ควรจะขยันสำรวจทั้งในและนอกบ้านอยู่เสมอๆว่า จุดใดคือจุดเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกๆหรือสมาชิกในครอบครัว เมื่อพบแล้วก็ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย   เช่น       - ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำในกะละมังในอ่างน้ำโดยลำพัง

  - ถ้ารองน้ำไว้ในถัง ในตุ่ม ในโอ่ง ต้องปิดฝาไว้ตลอดเวลา

- น้ำในถังในกะละมังหากไม่ได้ใช้ให้เททิ้งและคว่ำกะละมังคว่ำถังไว้ด้วย

                                - หากในบริเวณนั้นมีสระว่ายน้ำ มีบ่อ ให้ทำรั้วกั้น เพื่อไม่ให้เด็กๆเข้าไปเล่นโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล