software to create website

จัดบ้าน-รร.ให้ดี
ป้องกันอุบัติเหตุในเด็ก

เด็กในวัยที่ไม่เข้าใจเหตุผล ไม่เข้าใจความเสี่ยงเขาอาจจะทำอะไรก็ได้ จะเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ เราต้องเคลียร์ความเสี่ยง เขาจะทำอะไรที่เราคาดไม่ถึง

เมื่อลูกชายหัวแก้วหัวแหวน
วิ่งเข้าห้องส่วนตัว พร้อมกดล็อกประตูจากข้างใน

ทำเอาทั้งคุณพ่อ คุณแม่ยังสาว ตกอกตกใจกันใหญ่ถึงขั้นปีนหน้าต่าง เพื่อช่วยเหลือลูกชายออกมา

ซึ่งโชคดีที่น้องสามารถเปิดประตูออกมาได้เองแต่ก็ใช้เวลานานพอสมควร

เรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ให้กับครอบครัวที่มีลูกเล็กได้เป็นอย่างดี

โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ. รามาธิบดี อธิบายเพิ่มเติมว่า


เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ จัดอยู่ในกลุ่มอุบัติเหตุภายในบ้าน ซึ่งตัวผู้ปกครองเองอาจจะยังไม่ทันได้คิด เพราะมีหลายๆ บ้านที่ชอบอุ้มเด็กเล็กๆ ไปเล่นที่ประตู แล้วสอนกดปิด หมุนเปิด

ซึ่งเด็กกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ และจดจำ เด็กในวัยที่ไม่เข้าใจเหตุผล ไม่เข้าใจความเสี่ยงเขาอาจจะทำอะไรก็ได้ จะเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ เราต้องเคลียร์ความเสี่ยง เขาจะทำอะไรที่เราคาดไม่ถึง เขาไม่มีทางรู้ จากนั้นก็ถึงขั้นการเฝ้าระวังให้อยู่ในสายตา และคว้าได้ทัน อย่างกรณีของคุณเป้ยนั้น ต้องจำเอาไว้เลยว่าประตูต้องมีที่กันไม่ให้เด็กเปิดปิดได้เอง และต้องมีกุญแจสำรองเอาไว้ตลอด

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังบอกอีกว่า ทุก ๆ สถานที่ภายในบ้านทำให้เกิดอุบัติเหตุสำหรับเด็กได้ทั้งสิ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำให้เสียชีวิต แต่สาเหตุการเสียชีวิตในเด็กนั้น อันดับ 1 คือ การจมน้ำ 2. อุบัติเหตุจราจร และ 3. อุบัติเหตุภายในบ้านอย่างที่บอก โดยเด็กเล็กจะเป็นเรื่องของการหกล้ม ชนโต๊ะ ตู้ เตียง พลัดตก ส่วนเด็กโตขึ้นมาหน่อยจะเป็นเรื่องไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เป็นต้น


ซึ่งอุบัติเหตุในตัวบ้านที่เจอบ่อยที่สุดคือหกล้ม ชนกระแทก พื้นต่างระดับ โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มเดิน เริ่มวิ่ง การปีนราวบันได ราวระเบียงแล้วพลัดตกลงมา ดังนั้นการป้องกันต้องมีประตูนิรภัยที่เปิดเข้าหาตัวเองได้อย่างเดียว ป้องกันไม่ให้เด็กปีนป่าย หรือเอาตัวพิงผลักออกมา ความกว้างของซี่ราวบันได ราวระเบียงไม่ควรเกิน 9 ซม. ป้องกันการเล็ดลอด เพราะถ้ามากกว่านี้จะพบเด็กเอาขา เอาตัวลอดออกมาแต่หัวยังติดจะพบลักษณะของการแขวนคอ อันตรายมาก

นอกจากนี้
ตามคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ ตึกสูง

ต้องระวังการตกจากที่สูง

โดยเฉพาะในชั้นที่มีความสูงเกิน 4 ชั้น

ระเบียงต้องสูงกว่า 120 ซม. เป็นผนังทึบ หรือซี่ราวแนวตั้ง

ป้องกันการที่เด็กใช้เป็นบันไดได้ บริเวณใกล้ๆ

ต้องไม่มีสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ กระถางต้นไม้ ที่สามารถให้เด็กปีนป่ายได้


แต่ปัจจุบันพบที่พักอาศัยที่เป็นตึกสูงบางแห่ง

ยังมีปัญหาการทำผนังให้มีซี่ราวแนวนอน

จึงต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐาน

รถหัดเดิน..เมื่อไหร่จะเลิกใช้ ?

อุบัติเหตุอีกประเภทหนึ่งที่ยังพบว่าเป็นปัญหาอยู่ คือ รถกลมพยุงเดิน ซึ่งในต่างประเทศยกเลิกการใช้ไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากพบว่าทำให้พัฒนาการของเด็กล่าช้า แถมยังทำให้เด็กเล็กพยุงตัวเองเข้าไปหาความเสี่ยงทั้งพัดลม ปลั๊กไฟ ของร้อน สารเคมี หรือสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ส่วนเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็ปีนป่ายทำตัวเองล้มบาดเจ็บแม้ในพื้นที่อยู่ในระนาบปกติ


แต่ประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำได้เพียงเปลี่ยนชื่อเรียกจากรถหัดเดินมาเป็นรถช่วยพยุงเดินเท่านั้น


นอกจากนี้ ยังมีพวกอุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ
เล็กกว่า 3 ซม. ต้องระวัง!!

เพราะเด็กเขาไม่รู้ คว้าอะไรได้ก็เอาเข้าปาก ทำให้มีปัญหาเกิดการอุดตันหลอดลม และเสียชีวิตได้ พ่อแม่ต้องเคลียร์ของพวกนี้ ต้องยาวกว่า 6 ซม. 

และในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ควรจะทำเป็นแบบยึดติดกับผนัง ป้องกันการล้มทับเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีชั้นวางทีวีมีล้อเลื่อน ไม่ยึดติดผนังเมื่อเด็กปีนแล้ว ทีวีล้มทับกระดูกคอหัก ทำให้เป็นอัมพาตได้


อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา สิ่งสำคัญคือ ผู้ปกครอง ครูโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก ต้องจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก และอย่าปล่อยให้เด็กคลาดสายตา