best free website builder software

ร่างแผนปฎิบัติการฯ สานพลัง!!

ปกป้องเด็กไทยจากสื่อออนไลน์


“คณะทำงานขับเคลื่อนมติเด็กกับสื่อ”

ที่มี ดร.ธีรารัตน์พันทวี วงศ์ธนะอเนก เป็นประธาน  ถือเป็นฟันเฟืองและกลไกการทำงาน ภายใต้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคม และสุขภาวะ


เป้าหมายขับเคลื่อน ๒ มติ ได้แก่ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑ เรื่อง “ผลกระทบจากสื่อต่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว” และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ เรื่อง “การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๒๔ ชม. :กรณีเด็กไทยกับไอที” ให้มีความต่อเนื่อง


******

“บทบาทของคณะทำงานฯ ชุด นี้ จะทำหน้าที่บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ที่ทำหน้าที่ป้องกัน
เด็กจากสื่อออนไลน์ พร้อมกับวางแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยา”

ดร.ธีรารัตน์ ระบุ ที่ผ่านมา การประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนมีนาคม ได้กำหนดแนวทางดำเนินงานและร่างแผนปฏิบัติการโดยมีสาระสำคัญ คือ 

๑.จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาช่องทางการเสนอกฎหมาย 

๒.บูรณาการการทำงานร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐

๓.การพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับ เด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี

๔. จัดประชุมหารือเพื่อติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานของหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง



ล่าสุด ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙

เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๙ ที่ประชุมมีการนำ (ร่าง) แผนการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ภายใต้กรอบ

ระยะเวลา ๑ ปี (พฤษภาคม ๒๕๕๙ - เมษายน ๒๕๖๐) มาหารือ เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงาน และงบประมาณ

ที่จะมารองรับ โดยเห็นชอบแผนปฏิบัติงาน ๔โครงการประกอบด้วย 


๑.โครงการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง ส่งเสริมเด็ก และเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์

๒.พัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี

๓.พัฒนาระบบเฝ้าระวัง และ ๔.ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 “ในช่วงสิ้นปีนี้ คณะทำงานฯ จะนำเสนอรายงานความก้าวหน้าจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน

ต่อที่ประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ เพื่อเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจและ

เห็นภาพว่าเรื่องเด็กกับสื่อ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข”


 ในส่วนของ การพัฒนากฎหมาย ซึ่งหน่วยงานต่างๆได้ฝากความหวัง ว่าจะเป็นมาตรการบังคับ ที่จะทำให้การป้องกันเด็กจากสื่อออนไลน์ได้ผลมากที่สุด

อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์

นักวิชาการจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในแกนหลักในการขับเคลื่อนการทำงาน กล่าวว่า

จะมีการค้นคว้าระบบกฎหมายของนานาประเทศ ที่มีมาตรการคุ้มครองเด็กจากสื่อ อาทิ ออสเตรเลีย อังกฤษและสหรัฐ พร้อมตั้งระดมนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญและมีบทบาทในสังคม เช่น อาจารย์ คนึง ฦาไชย มาร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่างฯ


พร้อม นำ ร่างกฎหมายเข้า สู่เวทีรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ด้วย และสื่อสารต่อประชาชนให้รับรู้ พร้อมจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ต่างๆ เผยแพร่ในวงกว้าง ก่อนจะมีการบังคับใช้จริงในอนาคต


ส่วนการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัย
สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี

ที่ประชุมมอบให้ รศ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นแกนหลัก ในการขับเคลื่อนบนฐานความคิดว่า

“เด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี ควรถูกปกป้องคุ้มครอง ๑๐๐%”


แนวทางที่คณะทำงานฯ วางไว้เบื้องต้นคือ การหารือกับ ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  (ISP : Internet Service Provider) จัดทำแพ็คเกจ การให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อคัดกรองเนื้อหาสาระและ “จำกัดระยะเวลา” ในการใช้

โดยจะเริ่มต้นการทำงานด้วยการสำรวจความเห็นจากเด็กผู้ปกครอง รวมทั้งจัดเวทีเพื่อถ่ายทอดแนวคิด เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ จะต้องรณรงค์ให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญและควบคุมสื่อที่มาถึงตัวเด็กได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะที่ผ่าน สมาร์ทโฟน 

 
“แพคเกจนี้ผู้ให้บริการต้องลงทุน skinning software control เพื่อตัดสื่อที่ไม่ได้รับอนุญาตออกไป และจำกัดการใช้ไม่ให้เกิน ๓ ชั่วโมงต่อวัน หากผู้ประกอบการเห็นด้วย ก็ทำการโฆษณารณรงค์ออกมา

แม้จะไม่ใช่มาตรการบังคับ เป็นการขอความร่วมมือ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ เพราะแพ็คเกจนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเด็ก และเมื่อมีความต้องการ ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการ จะทำการตลาดออกมา”

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลักในโครงการต่างๆ นำเสนอรายละเอียดแผนงานโครงการขั้นตอนการทำงาน และ งบประมาณ ที่ต้องใช้ในที่ประชุมครั้งหน้า เพื่อเริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจัง พร้อมกันทุกประเด็นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙
 
นอกจากนี้ ยังได้มอบให้แต่ละหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันเด็กจากสื่อออนไลน์ นำความก้าวหน้าและผลสำเร็จจากการดำเนินงานตามภารกิจงานของแต่ละหน่วยงานเสนอต่อคณะทำงานฯ เป็นระยะๆ เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ รับทราบ และเป็น จุดรวบรวมข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานป้องกันเด็กจากสื่อออนไลน์ไว้ที่เดียวกัน นำไปสู่การบูรณาการการทำงานลดช่องว่างและความซ้ำซ้อนอีกด้วย