โครงการ 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนน
ในเด็กวัยเรียน

มูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก
ร่วมกับ
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
และบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด 

การเสริมสร้างทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน 
เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่ออกนอกบ้านมากขึ้น เช่น ไปโรงเรียน ไปเล่นนอกบ้าน มักเล่นห่างไกลจากพ่อแม่ เล่นกันเป็นกลุ่ม และเริ่มมีการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โดยสารรถยนต์ การเดินทางมีความเสี่ยงต่อเด็กเสมอ
หากไม่มีการส่งเสริมให้เด็กมีทักษะความปลอดภัยทางถนน อีกทั้งอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนในเด็กวัยเรียนมีจำนวนสูงกว่าเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะเมื่อเริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่น (12-13 ปีขึ้นไป)
ทักษะความปลอดภัยทางถนนจะต้องถูกสอนให้กับเด็กเพื่อสร้างเกราะป้องกัน และสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นเพื่อป้องกันความสูญเสียที่ไม่มีใครต้องการได้อีกด้วย
โครงการ 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน เป็นการพัฒนาเนื้อหาและสื่อการสอนทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน นำเทคโนโลยีมาประยุกต์เป็นสื่อเป็นการสอน ภายใต้กลไกการเล่นเป็นฐาน เพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ของเด็ก และมีความสนุกสนานมากขึ้นโดยใช้เวลาการสอนที่ไม่มากเกินไป
ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดลองว่าจะสามารถสร้างการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียนได้มากน้อยแค่ไหน และหากได้ผลที่ดี ก็จะกระจายไปสู่โรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยในระยะแรกทีมมูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จะเป็นพี่เลี้ยงและฝึกฝนการใช้โปรแกรมนี้ให้กับผู้สนใจ

วัตถุประสงค์

• เพื่อพัฒนาเนื้อหาและสื่อการสอนทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน

• เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะความปลอดภัยทางถนนแก่เด็กวัยเรียน

• เพื่อสนับสนุนสื่อการสอนทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียนแก่โรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง
กลุ่มเป้าหมาย
• เด็กวัยเรียน อายุ 6-12 ปี
กิจกรรมและผลที่เกิดขึ้น
วัตถุประสงค์

• เพื่อพัฒนาเนื้อหาและสื่อการสอนทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน

• เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะความปลอดภัยทางถนนแก่เด็กวัยเรียน

• เพื่อสนับสนุนสื่อการสอนทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียนแก่โรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง
1. องค์ความรู้ 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ ทักษะเดินเท้าปลอดภัย ทักษะขี่รถจักรยานปลอดภัย ทักษะโดยสารรถจักรยานยนต์ปลอดภัย ทักษะสวมหมวกนิรภัยปลอดภัย ทักษะโดยสารรถยนต์ปลอดภัย ทักษะโดยสารรถโรงเรียน/รถรับ-ส่งนักเรียนปลอดภัย ทักษะโดยสารรถสาธารณะปลอดภัย (เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า) และทักษะเดินทางปลอดภัยวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ New Normal  
2. สื่อการสอน 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน รูปแบบเกมออนไลน์ และรูปแบบ 3 ฐาน ได้แก่ ฐานเดินเท้า ฐานรถยนต์ และฐานหมวกกันน็อก

• ลิ้งดาวน์โหลดเกม shorturl.at/qwM45
• ดาวน์โหลดคู่มือติดตั้งเกม > กด
• ดาวน์โหลดคู่มือจัดกิจกรรม 3ฐาน > กด

3. รูปแบบการจัดการเรียนการสอน 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน นำเทคโนโลยีมาประยุกต์เป็นสื่อเป็นการสอนภายใต้กลไกการเล่นเป็นฐาน เพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ของเด็ก และมีความสนุกสนานมากขึ้น ใช้เวลาการสอนที่ไม่มากเกินไป โดยใช้รูปแบบเกมออนไลน์ “Road Safety Challenge: 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนน” และทดลองจัดการเรียนการสอนผ่านระบบ Hybrid Learning     โดยใช้เกมออนไลน์ (การเรียนรู้โดยใช้เกม หรือ Game-Based Learning) ควบคู่กับรูปแบบ 3 ฐาน ได้แก่ ฐานเดินเท้า ฐานรถยนต์ และฐานหมวกกันน็อก (การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน หรือ Activity-Based Learning) ส่งผลให้เด็กมีความรู้เพิ่มขึ้น และมีความพึงพอใจในระดับดีมาก ดังนี้  

• เด็กวัยเรียน จำนวน 1,037 คน จาก 145 โรงเรียน ใน 22 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร, สุพรรณบุรี, สมุทรสาคร, ราชบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, เชียงใหม่, กำแพงเพชร, สุโขทัย, พิจิตร น่าน, พะเยา, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, นครราชสีมา, สุรินทร์, สกลนคร, สงขลา, ตรัง, กระบี่, นครปฐม และสมุทรปราการ) ได้รับความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนจากการใช้สื่อการสอนที่จัดทำขึ้น

• เด็กวัยเรียน จำนวน 1,037 คน มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยทางถนนเพิ่มขึ้นจากการเรียนรู้ผ่านเกมออนไลน์ “Road Safety Challenge: 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนน” จากร้อยละ 73 เพิ่มเป็นร้อยละ 84 


• ความรู้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยทางถนน เปรียบเทียบระหว่าง “เกมออนไลน์” และ “3 ฐาน” ของเด็กวัยเรียน จำนวน 575 คน พบว่า ก่อนได้รับความรู้เด็กมีความรู้ร้อยละ 65 หลังเล่นเกมออนไลน์เด็กมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 74 และหลังเล่น 3 ฐานเด็กมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 


• ผลสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อสื่อการสอนเกมออนไลน์ “Road Safety Challenge: 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนน” ของเด็กวัยเรียน จำนวน 1,037 คน พบว่า ร้อยละ 82 บอกว่าเกมออนไลน์สนุก ร้อยละ 86 บอกว่าตนเองได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการเล่นเกมออนไลน์ ร้อยละ 48 บอกว่าชอบตัวเกมที่ออกแบบมาให้เล่นมากที่สุด และร้อยละ 69 บอกว่าไม่ต้องปรับปรุงเกมออนไลน์

• ผลสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อสื่อการสอน “3 ฐาน” (ฐานหมวกกันน็อก ฐานรถยนต์ และฐานเดินเท้า-ข้ามถนน) ของเด็กวัยเรียน จำนวน 575 คน พบว่า ร้อยละ 94 บอกว่าทั้ง 3 ฐานสนุก, ร้อยละ 97 บอกว่าตนเองได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการเล่น 3 ฐาน และร้อยละ 41 บอกว่าชอบฐานหมวกกันน็อกมากที่สุด รองลงมาชอบฐานเดินเท้า-ข้ามถนน และฐานรถยนต์

• ผลสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อสื่อการสอน เปรียบเทียบระหว่างเกมออนไลน์ และ 3 ฐาน พบว่า ร้อยละ 48 ชอบทั้งเกมออนไลน์ และ 3 ฐานเท่ากัน ร้อยละ 30 ชอบเกมออนไลน์อย่างเดียว ร้อยละ 22 ชอบ 3 ฐานอย่างเดียว ร้อยละ 97 บอกว่าทั้งเกมออนไลน์ และ 3 ฐาน สนุกทั้งสองอย่าง

4. ถ่ายทอดเนื้อหาและวิธีการใช้สื่อการสอน 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน โดยนำสื่อการสอน ได้แก่ เกมออนไลน์ และรูปแบบ 3 ฐาน เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ (www.csip.org) เพื่อให้ครูและผู้สนใจทั่วไปได้ดาวน์โหลดนำไปใช้งาน 
5. สื่อสาธารณะ จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการฯ โดยบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมกับมูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และเผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรม Road Show เพื่อเผยแพร่โครงการและสื่อการสอนแก่นักเรียน ครู และหน่วยงาน > กดดูข่าว
6. สร้างห้องเรียนรู้ “8 ทักษะความปลอดภัยทางถนน” ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (อยู่ระหว่างดำเนินงานต่อเนื่องในเฟสถัดไป) 
7. เกิดผลกระทบต่อสังคม ได้แก่ เด็กมีความรู้เรื่องปลอดภัยทางถนนมากขึ้น, การเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมนั้นสอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับเด็กมีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ, เกิดต้นแบบสื่อการสอนในรูปแบบเกมออนไลน์สำหรับการศึกษาที่เป็นรูปธรรมในการสร้างการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน, ผลการเรียนรู้ของเด็กที่เข้าร่วมโครงการนำไปใช้ประกอบการวางแผนงานสร้างความรู้ความเข้าใจกับเด็กในประเด็นอื่นได้, เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกันในการเผยแพร่เนื้อหาและจัดกิจกรรม, เกิดความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการนําสื่อการสอนในรูปแบบเกมออนไลน์และผลงานจากโครงการไปขยายผล และเป็นต้นแบบในการจัดทําสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้านการเรียนรู้สำหรับเด็ก 

เอกสารแนบ  

ผลสรุปโครงการฉบับเต็ม

โครงการ 8 ทักษะความปลอดภัยทางถนนในเด็กวัยเรียน