ปฏิรูปนักมวยเด็ก “เน้นสวยงาม-จำกัดอายุ-แก้กฎกติกา” ( 21 ธ.ค.59 )

dsc_4971

เมื่อพูดถึง “นักมวยเด็ก” หลายคนนึกถึงศิลปะแม่ไม้มวยไทยอันสวยงามผ่านท่วงท่าลีลาของเหล่านักสู้ตัวน้อย เอกลักษณ์ของชาติที่ควรรักษาไว้ อีกหลายคนกลับมองว่าโหดเหี้ยมป่าเถื่อน เป็นการทารุณกรรมโดยใช้เด็กเป็นเครื่องมือพนันของผู้ใหญ่

ไม่ว่าจะมองมุมไหน ประสบการณ์อันน้อยนิดบวกกับกติกาที่เน้นความรุนแรง เสี่ยงที่จะทำให้นักมวยเด็กได้รับบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ อันจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ไอคิวต่ำ-สมองบอบช้ำระยะยาว”ผลจากการโดนต่อยศีรษะ

 

 

 

ปัจจุบันเมืองไทยมีนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมากกว่าหนึ่งแสนคนต้องเดินสายขึ้นชกอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งชกเดิมพัน ชกชิงเงินรางวัลตามเวทีงานวัด งานเทศกาลต่างๆ โดยอายุน้อยสุดที่พบคือ 4 ปี นักมวยเด็กเหล่านี้จะได้รับความกระทบกระเทือนจากการโดนชกที่ศีรษะอย่างน้อย 20 หมัดต่อไฟท์

ยิ่งเริ่มชกอายุน้อยกว่า ชกนานกว่า จำนวนไฟต์การชกมากกว่า ก็ยิ่งมีผลต่อสมองมากขึ้น ซึ่งการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆในการชกซ้ำๆกันหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของสมองในระยะยาวได้

dsc_5103

ดร.วิทยา สังขรัตน์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยเรื่อง “การบาดเจ็บสมองของนักมวยเด็ก” ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ได้ใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ศึกษาความแตกต่างระหว่างสมองของเด็กที่ชกมวย 323 คน กับเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ชกมวย 253 คน พบว่า การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีนั้นมีผลต่อสมองของเด็ก

“ผลวิจัยสรุปได้ว่า 69 % ของนักมวยเด็กจะมีความผิดปกติทางสมอง 1.มีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมซึ่งเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง 2.เซลล์สมองและใยประสาทฉีกขาด ถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ 3.การทำงานของสมองด้านความทรงจำลดลง นำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญา หรือภาวะสมองเสื่อมได้ จากการวิจัยพบว่า ระดับสติปัญญา (ไอคิว) ของเด็กที่ชกมวยมากกว่า 5 ปีจะอยู่ 84 คะแนน ซึ่งคะแนนระหว่าง 80-89 คะแนนจะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น ส่วนเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ชกมวย ไอคิวจะอยู่ที่ 90-110 คะแนน ซึ่งสามารถเรียนจบระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรี”

ดร.วิทยา เผยว่า ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดคือ การบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กจะส่งผลต่อการศึกษาและการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคต

“หากเด็กเหล่านี้โตขึ้นไปแล้วไม่ได้เข้าสู่วงการมวย ไม่ได้เป็นนักกีฬามวยระดับชาติ จะกลับเข้าสู่สังคม จะใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปอย่างไร จะเรียนอะไร ทำงานทำการอะไร ในเมื่อสมองบอบช้ำ แถมไอคิวยังต่ำกว่าคนทั่วไป ยังไม่นับโรคทางระบบทางประสาทที่อาจตามมา เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ฉะนั้นในเด็กที่ต่ำกว่า 15 ปีลงไป ผู้ปกครองไม่ควรใช้สิทธิ์ตัดสินใจให้พวกเขาถูกทำร้ายด้วยการชกมวยตั้งแต่อายุยังน้อย”

dsc_5116

 กฎหมายมวยไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองเด็ก

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีประเด็นที่สับสนระหว่างมวยอาชีพกับมวยสมัครเล่น ในพรบ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ไม่สอดคล้องกับพรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กฎหมายค้ามนุษย์  และอนุสนธิสัญญาสิทธิเด็ก

“ตามพรบ.มวย 2542 มาตรา 29 ระบุว่า นักมวยที่จะจดทะเบียนได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงคือ ทุกวันนี้มีนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมากกว่าหนึ่งแสนคน แต่มีการลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ถึง 1 % เท่านั้น ซึ่งการชกมวยเด็กก็เป็นลักษณะมวยอาชีพ ได้รับค่าตอบแทน จึงถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากตามพรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 ระบุว่า ห้ามไม่ให้จ้าง บังคับ ขู่เข็ญ ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก เล่นกีฬาเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า หรือเข้าไปในสถานที่เล่นพนัน

ขณะเดียวกันในต่างประเทศถือว่ามวยเด็กเป็นการทารุณกรรม เป็นการใช้แรงงานเด็กขั้นเลวร้ายที่สุด ที่ผ่านมามีสื่อต่างชาติรายงานข่าวเรื่องมวยเด็กในไทยออกมาในเชิงลบอยู่เป็นประจำ นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐอเมริกา”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกว่า สิ่งที่ต้องการมิใช่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเลิกชกมวยเด็ดขาด แต่แค่ปรับเปลี่ยนกฎกติกาที่คำนึงถึงความปลอดภัยในตัวเด็กมากขึ้น ไม่ให้บอบช้ำ หรือได้รับการบาดเจ็บรุนแรงอันจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของเด็ก

“4 ข้อเสนอเพื่อให้มวยไทยปลอดภัยสำหรับเด็กก็คือ 1.นักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องเป็นเพียงวัฒนธรรมและกีฬาสมัครเล่นโดยมีกฎกติกาที่เหมาะสมตามอายุ ไม่ใช่เป็นอาชีพ ไม่ทดแทนคุณ ไม่ทารุณกรรม และไม่เป็นการพนัน 2.มีการกำหนดเกณฑ์อายุ เช่น อายุต่ำกว่า 9 ปี ให้แค่รำมวย แสดงท่าททางอันหลากหลายของแม่ไม้มวยไทย เน้นสวยงาม เตะต่อยเป้า อายุ 9-12 ปี แข่งแบบปะทะได้ แต่ห้ามชกศีรษะ ถ้าชกที่ศีรษะจะไม่ได้คะแนน แถมถูกตัดคะแนน หรือจับแพ้ ที่สำคัญต้องใส่บอดี้การ์ด หรือเฮดการ์ดด้วย ส่วนอายุ 13-15 ปี แข่งแบบปะทะได้ มุ่งเป้าศีรษะได้ แต่ต้องชกแบบเบา เน้นเข้าเป้า การได้คะแนนจะวัดจากความแม่นยำ ไม่ใช่การต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนที่เป็นอยู่

3.ต้องแก้กฎหมายพรบ.มวย 2542  ให้สอดคล้องกับพรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กฎหมายค้ามนุษย์  และอนุสนธิสัญญาสิทธิเด็ก นั่นคือ ป้องกันไม่ให้เด็กได้รับอันตราย ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ เดิมพัน พนัน ให้กีฬามวยไทยเด็กเป็นแค่มวยสมัครเล่นเท่านั้น เดี๋ยวนี้จะเห็นได้ว่านักมวยเด็กเขาต่อยกันแบบนักมวยผู้ใหญ่เลย มีค่าตัว ถอดเสื้อ ตัวเปล่า ชกกันแบบรุนแรง โดยไม่มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันเหมือนมวยสมัครเล่น และ 4.ในการแข่งขันกีฬาให้กำหนดชก 3 ยก ยกละ 1- 1.5 นาที กำหนดช่วงพักระหว่างการชกแต่ละครั้ง หากมีการบาดเจ็บสมอง ต้องพักนานขึ้น แต่ละอายุจะมีข้อแนะนำการพักที่แตกต่างกัน”

dsc_5125

เสียงจากครูมวย-อดีตนักค้ากำปั้น

สมควร สิงห์พลี อดีตนักมวยไทยผู้ใช้นามบนสังเวียนว่า “น้องรัก สิงห์กรุงธน” เล่าว่า เริ่มชกมวยตั้งแต่อายุ 14 ปี

“ชกนานๆสมองเสียหายกระทบกระเทือนจริง สมัยหนุ่มๆร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉงว่องไว แต่ตอนนี้ภรรยาบอกว่าเวลาถามอะไรจะตอบสนองช้า ไม่ทันท่วงที กว่าจะพูดตอบกลับมาได้ใช้เวลาพอสมควร”

วีระ ทิพย์แก้ว อดีตนักมวยอีกรายบอกว่า วงการมวยสมัยนี้การพนันเข้ามามีอิทธิพลสูง เซียนมวย หัวหน้าค่ายจึงไม่ค่อยเน้นศิลปะแม่ไม้มวยไทยอันสวยงามเหมือนแต่ก่อน

“เดี๋ยวนี้ทราบว่า วงเงินพนันเป็นล้านๆ พวกเซียนมวยก็ไม่มาสนใจความสวยงามหรอก หัวหน้าค่ายก็เน้นสอนแต่ให้นักมวยชกแบบหนักหน่วงรุนแรง ไม่เน้นสวยงามกันแล้ว ตรงนี้แหละที่ผมเป็นห่วง”

dsc_5154

นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ ครูสอนมวยไทย บอกอีกว่า แต่ไหนแต่ไรมาการจะสร้างนักมวยเก่งๆขึ้นสักคนต้องเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย โตขึ้นร่างกายจะสะสมความแข็งแกร่ง ฝีไม้ลายมือ และประสบการณ์ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องชกมวยตั้งแต่ยังเด็ก

“ผมอยากเน้นย้ำเรื่องการดูแลนักมวยหลังหยุดชก ที่ผ่านมาช่วงนักมวยรุ่งๆ หัวหน้าค่ายประคบประหงมอย่างดีอย่างกับซูเปอร์สตาร์ พอแขวนนวมเลิกชก ก็ไม่ดูแล นักมวยหลายคนจึงตกอับ เจ็บป่วยออดๆแอดๆ ไม่มีเงินรักษา ไม่มีงานทำ ไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยเหลือ”

กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปวงการนักมวยเด็กครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเลิกชกมวยอย่างถาวร เพียงแค่ปรับเปลี่ยนกฎกติกาที่คำนึงถึงความปลอดภัยในตัวเด็กมากขึ้น เน้นความสวยงามของศิลปะแม่ไม้มวยไทยมากกว่าจะต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตายอย่างที่ผ่านมา

ในงานการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ใน วันที่ 21 ธค.2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

รายงานพิเศษ “เน้นสวยงาม-จำกัดอายุ-แก้กฎกติกา”…ถึงเวลาปฏิรูปนักมวยเด็ก 21 ธันวาคม 2559  เรื่อง…อินทรชัย พาณิชกุล ภาพและวีดีโอคลิป Bankrama

dsc_5247 dsc_5240 dsc_5210 dsc_5184 dsc_5135 dsc_5092 dsc_5074 dsc_5018 dsc_5000 dsc_4994 dsc_4960

 

 

 

 

 

 

โปรดแสดงความคิดเห็น