เด็กขาดพื้นที่เล่นปลอดภัย ปิดเทอม!! ช่วงเวลาที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดของปี

เด็กขาดพื้นที่เล่นปลอดภัย ปิดเทอม!! ช่วงเวลาที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดของปี

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. รศ นพ อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดลและ ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก  คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี  กล่าวว่า

” ปิดเทอมเป็นเวลาว่างเว้นจากการเรียนของเด็กๆ พ่อแม่ไม่ควรกำหนดให้ลูกต้องเรียนพิเศษอย่างเคร่งเครียดเพิ่มเติมมากเกินไปควรสนับสนุนให้เด็กๆได้พักผ่อน ออกกำลังกายเข้าร่วมกิจกรรมที่สนุกสนานที่แฝงด้วยความรู้รอบตัวต่างๆ อย่างไรก็ตามต้องพึงสังวรถึงอันตรายต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงสามเดือนอันตรายความสนุกจะได้ไม่กลับกลายเป็นความเศร้าของเพื่อนๆนักเรียนที่ได้ยินข่าวร้ายในวันเปิดเทอม”

1. สามเดือนอันตราย

อุบัติเหตุเป็นเหตุนำการตายในเด็กไทย ในแต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปีจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจำนวนกว่า 2500รายต่อปี หรือ เฉลี่ย 200รายต่อเดือน ในแต่ละปีพบว่าเดือนที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดคือเดือนเมษายน (เฉลี่ย 350รายต่อเดือน) อันดับรองลงไปเป็นเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ของเด็กๆ รวมสามเดือนอันตรายนี้มีการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุจำนวนกว่า  1000ราย คิดเป็นกว่าร้อยละ  30-35ของการตายตลอดทั้งปี ดังนั้นช่วงปิดเทอมของเด็กๆนี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความเสี่ยงที่พ่อแม่ และชุมชนจะต้องตระหนักและช่วยกันดูแลเด็กๆ

สถิติการตายจากการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ย้อนหลัง 19 ปี

รวม เด็กจมน้ำตาย 22729 รายใน 19 ปี 

จำนวนเด็ก จำนวนเด็กจมน้ำ อัตราการตายต่อแสน
2543 14,263,221 1,591 11.15
2544 14,188,550 1,587 11.19
2545 14,087,315 1,653 11.73
2546 13,960,586 1,506 10.79
2547 13,836,845 1,644 11.88
2548 13,695,800 1,494 10.91
2549 13,527,944 1,440 10.64
2550 13,329,499 1,263 9.48
2551 13,119,476 1,244 9.48
2552 12,909,385 1,215 9.41
2553 12,706,867 1,163 9.15
2554 12,533,729 1,166 9.30
2555 12,377,511 1,050 8.48
2556 12,220,664 939 7.68
2557 12,054,169 821 6.81
2558 11,858,311 728 6.14
2559 11,633,696 732 6.29
2560 11,391,781 766 6.72
2561 11,148,662 727 6.52

 

2. เด็กอายุ 4-12 ปี เป็นวัยที่มีความไวต่อการตายในช่วงปิดเทอมสูงกว่าเดือนอื่นๆของปี และช่วงที่อันตรายที่สุดคือ 12-23 เมษายน

  • พบว่าเด็กที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในช่วงปิดเทอมเมื่อเทียบกับเวลาอื่นๆของปีเป็นเด็กวัยตั้งแต่ 4 ปี ถึง 12 ปี
  • ช่วง 12 วันกลางเดือนเมษายน ระหว่างวันที่ 12-23 เป็นช่วงเวลาที่เด็กอายุ 4-12 ปีตายสูงสุดทั้งในเดือนเมษายนและทั้งปี

3.ในเดือนเมษายน เด็ก 4-12 ปีส่วนใหญ่ ตายในละแวกบ้าน ในบริเวณชุมชน ในขณะเล่นกับเพื่อน

สาเหตุที่สำคัญพบว่าร้อยละ 56 ตายจากการจมน้ำ ร้อยละ 25 ตายจากการจราจร ร้อยละ 8 ตายจากตกที่สูง ของแข็งชนกระแทก ร้อยละ 7 ตายจากความรุนแรง และร้อยละ 3 ตายจากไฟฟ้า

การตายส่วนใหญ่นั้นของเด็ก 4-12 ปีส่วนใหญ่ ตายในละแวกบ้าน ในบริเวณชุมชนในขณะเล่นกับเพื่อน

จมน้ำ เป็นการตายอันดับหนึ่ง แหล่งน้ำเสี่ยงจะอยู่ในละแวกชุมชนใกล้บ้านเด็ก เช่นบ่อขุด บ่อหรือสระน้ำใช้ชุมชน คลองหรือแม่น้ำในบริเวณชุมชน

อุบัติเหตุจราจร เป็นอันดับสองของการตาย สาเหตุมาจาก การขับขี่ ซ้อนมอเตอร์ไซด์ ในบริเวณละแวกบ้าน เด็กขี่ เด็กซ้อน  ถูกรถชนบริเวณชุมชน แต่ในช่วงสงกรานต์อันตรายครึ่งหนึ่งเป็นรถยนต์ เป็นการเดินทางไกล

ตกที่สูง ของชนกระแทก  การพลัดตกหกล้มซึ่งทำให้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บสมองและการแตกของอวัยวะภายใน สาเหตุที่สำคัญคือตกบันได หน้าต่าง ระเบียง หลังคา ต้นไม้ ชิงช้า แป้นบาส เสาฟุตบอล หรือเล่นของเล่นที่มีลูกล้อเช่นรองเท้าสเก๊ต สกูตเตอร์ในบริเวณที่ไม่เหมาะสม

การปีนป่ายโครงสร้างหนักที่ไม่ได้รับการติดตั้งอย่างมั่นคงจะทำให้เกิดการล้มทับ เป็นเหตุให้บาดเจ็บสมองหรือการแตกของอวัยวะภายในเสียชีวิตได้เช่น การปีนป่ายรั้วบ้าน แป้นบาส เสาฟุตบอล เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น

การสำรวจสนามเด็กเล่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนจำนวน 148 แห่ง มีโรงเรียนที่เห็นว่าน่าจะมีความปลอดภัยเพียง 4 โรงเรียน

พ่อแม่และชุมชนจะต้องตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดได้รอบตัวเด็ก การดูแลเด็ก อายุต่ำกว่า 7 ปี ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ตามมาตรฐานขั้นต่ำการดูแลเด็ก การตายของเด็กกลุ่มนี้เป็นความละเลยของผู้ปกครอง

ขณะเดียวกัน การเตรียมพื้นที่เล่นปลอดภัยในบริเวณชุมชนให้กับเด็ก เป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน การตายของเด็ก 7-12 ปีในพื้นที่ชุมชนมักพบความละเลยของ ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดูแลพื้นที่ (เช่นครูในพื้นที่โรงเรียน) ในการจัดการความปลอดภัยให้กับเด็กๆด้วยเสมอ เช่น ไม่จัดพื้นที่เล่นปลอดภัยสำหรับเด็ก พื้นที่เล่นของเด็กไม่แยกเด็กออกจากถนน แหล่งน้ำ ไม่ตรวจสอบการติดตั้งเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นให้มั่นคง ไม่ตรวจสอบความปลอดภัยของสนามกีฬาเช่น แป้นบาส เสาฟุตบอล ที่ใช้งานมานานหลายปีเป็นต้น

นอกจากนั้นชุมชนควรจัดผู้สอดส่องความปลอดภัยในเด็กที่เล่นนอกบ้าน แทนพ่อแม่ในชวงปิดเทอม (พี่เลี้ยงชุมชน หรือ playgroup)


  1. จมน้ำ

ทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า จมน้ำในเด็กเล็กอายุ 1-4 ปี มีแนวโน้มการตายลดลงอย่างชัดเจน เด็กวัยนี้มักจมน้ำตายในบ้าน ขณะผู้ดูแลอยู่ใกล้แต่เผอเรอชั่วขณะ การสื่อความรู้ทั้งโดยตรงและผ่านสื่อสาธารณะทำให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กรับรู้และจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านรอบบ้านได้ทันที รวมทั้งทำให้มีความตั้งใจระมัดระวังในการดูแลเด็กเล็กใกล้ชิดมากขึ้น ในขณะนี้กลุ่มปฐมวัยที่ตายจากการจมน้ำ กว่าร้อยละ 90 อยู่ในครัวเรือนที่มีความยากจนสูง

ขณะที่ในเด็กวัยเรียนระดับประถมอายุ 5-9 ปีมีแนวโน้มการตายจากการจมน้ำลดลงเช่นกัน และมีแนวโน้มจะลดได้ต่อไป เด็กวัยนี้มักตายในแหล่งน้ำไกลบ้าน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแหล่งน้ำในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่หรือเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน พ่อแม่ไม่ได้เฝ้าดูใกล้ชิดเพราะเป็นวัยเริ่มวิ่งเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน ผู้ดูแลมักคิดว่าเด็กวัยนี้จะต้องรู้ความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงภัยได้ด้วยตนเอง ต้องมีทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการได้แก่ รู้จักและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้จุดเสี่ยง ลอยตัวได้ 3 นาที ว่ายท่าอะไรก็ได้ 15 เมตรเพื่อตะกายเข้าฝั่ง ช่วยเพื่อนถูกวิธีโดยการตะโกน โยน ยื่น และใช้ชูชีพเสมอเมื่อจำเป็นต้องเดินทางทางน้ำหรือต้องทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง จุดอ่อนของการฝึกทักษะทั้ง 5 ได้ในวงกว้างคือผู้ถ่ายทอดความรู้ ดังนั้นต้องเสริมพลังผู้สอนนอกระบบการศึกษาเช่นครูสอนว่ายน้ำตามสระต่าง ๆ ให้สามารถรับภารกิจนี้ไปดำเนินการให้ได้ เพราะลำพังอาศัยการขยายผ่านโรงเรียนในระบบพบว่ามีอุปสรรคมากมาย ไม่สามารถจัดการสอนการฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการได้ทันการตายรายวันของเด็ก


2.เด็กขาดแคลนพื้นที่เล่นเพื่อพัฒนาร่างกายและสมองที่ปลอดภัย

ประเทศไทย ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตั้งแต่วันที่ ๑๒กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕รัฐภาคีทีรับรองอนุสนธิสัญญานี้ต้องยอมรับว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิต และต้องประกันอย่างเต็มที่ให้เด็กมีโอกาสในการอยู่รอดและมีโอกาสในการพัฒนาอย่างเสมอภาค รัฐภาคีต้องยอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเวลาพักผ่อน การเข้าร่วมกิจกรรม การละเล่นทางนันทนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก  รัฐภาคีต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงในอันที่จะคุ้มครองเด็กจากความไม่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ  ทั้งจากการทำร้าย การกระทำอันมิชอบ  การทอดทิ้ง การปฏิบัติโดยประมาท  หรือการแสวงหาผลประโยชน์  การบรรลุสิทธิทั้ง ๔ ด้านจะนำไปสู่การบรรลุสุขภาวะของเด็ก

ปัญหาการละเลยและการละเมิดต่อสิทธิเด็กทั้ง 4 ด้านยังคงประจักษ์อยู่ในสังคมไทย  อันเป็นเหตุแห่งอุปสรรคของการบรรลุสุขภาวะของเด็ก ดังนี้  

  • เด็กยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ส่งเสริมพัฒนาการที่ปลอดภัยได้อย่างเสมอภาค

การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาที่เหมาะสม คือ เล่นนำเรียน  และการเรียนรู้อย่างมีความสุข  ทั้งนี้ในการเล่นที่มีสิ่งเกื้อหนุนที่ดี  จะส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ทั้งกาย จิตใจ ปัญญา และมีวินัย มีการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการปรับตัว และลดอุบัติเหตุ

การที่ขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับเด็กที่มีการจัดการอย่างเหมาะสม ปลอดภัย และส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทำให้เด็กขาดการพัฒนาด้านทักษะทางร่างกายอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเจริญเติบโต และทักษะด้านกระบวนการ ได้แก่ การคิดแก้ปัญหา การตัดสินใจ การให้เหตุผล รวมถึงการพัฒนาด้านคุณธรรม และคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้การดำเนินชีวิต ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ขาดทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น และขาดทักษะความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

– สาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กในสนามเด็กเล่นสนามเด็กเล่นส่วนใหญ่ในชุมชนและโรงเรียนมีการออกแบบ ติดตั้ง และการบำรุงรักษาที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยจากการสำรวจพบว่ามีเด็กบาดเจ็บจากสนามเด็กเล่นถึงปีละ ๓๔,๐๗๕ ราย กลุ่มเด็กอายุ ๕-๑๒ ปี ได้รับบาดเจ็บบ่อยที่สุด  นอกจากนี้ยังพบปัญหาความไม่ปลอดภัยสนามเด็กเล่นที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเด็ก ซึ่งได้แก่ พื้นสนามที่มีความแข็งและไม่ดูดซับพลังงานจากการตก เครื่องเล่นแกว่งไกลไม่ได้ยึดติดฐานราก และล้มง่าย เครื่องเล่นที่มีความสูงไม่มีสิ่งป้องกันการตก รวมทั้งเครื่องเล่นที่ทาด้วยสีที่มีสารตะกั่วสูง เป็นต้น

 “กรณีเด็กจมน้ำ”  พื้นที่เล่นในธรรมชาติอย่างหนึ่งของเด็กคือแหล่งน้ำ

อุบัติเหตุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กที่มีอายุ ๑ – ๑๗ ปี  การจมน้ำเป็นเหตุนำในกลุ่มเด็กอายุ ๑-๑๒ ปี  การจมน้ำในเด็กเล็กอายุ ๑-๔ปี เสียชีวิตในบ้าน แหล่งน้ำในบ้านเด็กวัยเรียนระดับประถมอายุ ๕-๙ ปี มักตายในแหล่งน้ำไกลบ้าน  แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแหล่งน้ำในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่หรือเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน พ่อแม่ไม่ได้เฝ้าดูใกล้ชิดเพราะเป็นวัยเริ่มวิ่งเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน ผู้ดูแลมักคิดว่าเด็กวัยนี้จะต้องรู้ความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงภัยได้ด้วยตนเอง  การป้องกันการตายในเด็กเล็กต้องเสริมความรู้ สร้างความตระหนักแก่ผู้ดูแลเด็กโดยเฉพาะกลุ่มยากจน ในเด็กโดต้องมุ่งเน้นที่ การสร้างทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัยทางน้ำ ๕ประการได้แก่ รู้จักและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้จุดเสี่ยง ลอยตัวได้ ๓นาที ว่ายท่าอะไรก็ได้ ๑๕เมตรในเด็กระดับประถม ๑-๓ และ ๒๕ เมตร ในเด็กที่โตกว่านั้น  การช่วยเพื่อนอย่างถูกวิธีโดยการตะโกน โยน ยื่น และใช้ชูชีพเสมอเมื่อจำเป็นต้องเดินทางทางน้ำหรือต้องทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการตายและการบาดเจ็บในเด็ก พบว่าปัจจัยที่สำคัญคือความยากจน เด็กที่เสียชีวิตจากความไม่ปลอดภัยกว่าร้อยละ ๗๐ อยู่ในครอบครัวและชุมชนที่มีศักยภาพต่ำ ไม่สามารถจัดการโครงสร้างกายภาพและสิ่งแวดล้อมในบ้านและชุมชนให้มีความปลอดภัยได้ ผู้ดูแลต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลาดูแลใกล้ชิด ผู้ดูแลมีการศึกษาต่ำ ขาดทั้งความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในการปกป้องคุ้มครองดูแลเด็ก ขณะเดียวกันหลายกรณีเป็นการเลี้ยงดูต่ำกว่าเกณฑ์รับได้ เข้าข่ายการละเลยต่อการเลี้ยงดูเด็ก ที่หน่วยงานต่างๆควรจะรู้ได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจมน้ำ จมน้ำเป็นเพียงลักษณะการเลี้ยงดูแบบละเลยแบบหนึ่งของกระบวนการเลี้ยงดูเท่านั้น

หากมีการจัดการพื้นที่เล่นให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ เหล่านี้ ก็จะลดอุบัติเหตุลงได้

 การเพิ่มพื้นที่เล่น เรียนรู้  ส่งเสริมพัฒนาการ โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยส่งเสริมการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาสำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา

ประเทศไทยยังขาดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาและให้เด็กมีอิสระในการพัฒนาตนเองในทางที่ถูกที่ควร และใกล้กับธรรมชาติ และการเรียนรู้จากความสนุกและมีความสุข  เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยด้อยคุณภาพ การมี “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา”  ซึ่งเด็กสามารถทดลอง ค้นคว้า ค้นหา ฝึกความมีวินัย จากการเล่นได้  จะมีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาเด็กไทย การจัดการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์  เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา โดยการเล่นและเรียนรู้ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ  มุ่งที่จะ “เสริมสุขภาพ สร้างปัญญา พัฒนาจิตใจ”


  1. สงกรานต์ปลอดภัย

วันที่ 12-23 เมษายนซึ่งเป็นในช่วงสงกรานต์จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กอายุ 4-12ปีมีความเสี่ยงสูงสุดต่อการตายจากอุบัติเหตุ

  • ชุมชนต้องเตรียมพื้นที่ให้เล่นน้ำเฉพาะ (zoning) เพื่อลดอุบัติเหตุจราจร
  • พื้นที่ให้เล่นน้ำเฉพาะที่เตรียมต้องเป็นพื้นที่ให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เน้นป้องกันการจมน้ำ การถูกรถชน ของหนักหล่นทับ ตกที่สูง ถูกไฟฟ้าดูด ระวังเฝ้าดูความรุนแรง (การกระทำต่อเด็ก)
  • งดเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขายอุปกรณ์ฉีดน้ำที่ไม่เหมาะสมในเขตพื้นที่เล่นน้ำเฉพาะ
  • ชุมชน ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้จัดการพื้นที่บริการหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เตรียมพื้นที่เล่นทั่วไป สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สำหรับเด็กเพราะเป็นช่วงปิดเทอม เด็กกลับบ้าน มาเยี่ยมญาติ ถูกส่งมาอยู่กับญาติในชุมชน หรือมาเที่ยวพักผ่อนเช่นกัน

โปรดแสดงความคิดเห็น