ในอดีตพ่อและแม่ต่างเชื่อกันว่า โรงเรียนน่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับลูกๆ แต่เมื่อย้อนไปได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งครูกระทำชำเราลูกศิษย์ ลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนมาถึงเรื่องราวอันฮือฉาวสั่นสะเทือนวงการ จากการกระทำของครูที่ทำร้ายเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล สร้างความปวดร้าวใจให้กับคนเป็นพ่อเป็นแม่
หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามปัจจุบัน สำนึกของครู ได้ขาดหายไปตามความเสื่อมของสังคมจริงหรือ จากการกระทำไร้ซึ่งความเมตตาเอ็นดูต่อเด็ก เพราะข้ออ้างไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีปัญหาทางบ้าน และสารพัดคำแก้ตัว ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด แต่สุดท้ายมาลงที่เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ไม่รู้ประสีประสา
แม้แต่โรงเรียนเอกชน ค่าเทอมแพงๆ ดูน่าเชื่อถือในมาตรฐานการเรียนการสอน ยังเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น ทำให้ย้อนกลับไปในการดูแลควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ทำไมมีการปล่อยละเลยขนาดนี้ ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทย ได้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากกระจายไปทั่วประเทศ ตามค่านิยมของผู้ปกครองที่ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังทักษะด้านภาษาให้กับลูกหลาน
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณี “ครูทำร้ายเด็ก” ว่า
มาตรฐานของแต่ละโรงเรียนมีการกำหนดอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่มีค่าเทอมแพงหรือไม่ก็ตาม ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ทั้งดูแลบุคคลภายในโรงเรียน และนอกโรงเรียน ไม่ให้ทำร้ายเด็ก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 29 วรรค 2 โดยทุกโรงเรียนต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกัน และครูต้องมีวิธีปฏิบัติในการดูแลเด็กนักเรียน เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถทำร้ายเด็กได้ ทั้งการกระชากผม ตบหัว หรือกระทำการอื่นๆ ที่จะส่งผลทำร้ายจิตใจเด็ก ซึ่งเป็นการละเลยทางอารมณ์
“ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่มีค่าเทอมแพง หรือถูก จะทำร้ายเด็กไม่ได้ ทุกโรงเรียนต้องมีมาตรฐาน ควรติดกล้องวงจรปิดในห้องเรียน แต่ที่ผ่านมาหลายโรงเรียน ไม่มีการติดกล้องวงจรปิด เพราะเชื่อมั่นว่าครูจะไม่ทำอะไรเด็ก หรือบางโรงเรียนไม่ยอมติดกล้อง ก็เพราะกลัวมีปัญหา ทั้งๆ ที่ควรต้องติดตั้งกล้องในห้องเรียน เพื่อการเฝ้าระวัง ไม่ให้คนใน และคนนอกโรงเรียนทำร้ายเด็ก แต่ก็มีบางโรงเรียนติดกล้องแล้ว ไม่เคยดูกล้อง ไม่รักษามาตรฐาน มีการผลักเด็ก เขกกะโหลกเด็ก หยิกหูเด็ก ทั้งๆ ที่ทำไม่ได้ทั้งหมด และครูส่วนใหญ่รู้ แต่ก็ยังหักห้าม ไม่ให้ทำไม่ได้ และผู้บริหารปล่อยปละละเลย รวมไปถึงผู้ปกครองส่วนหนึ่งเคยชิน เพราะเคยเห็น เคยเจอ กับการกระทำแบบนี้ จนต้องยอม”
ส่วนสาเหตุที่ผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน นิยมส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เนื่องจากเป็นค่านิยมแบบหนึ่ง ทำให้เกิดโรงเรียนนานาชาติจำนวนมาก เน้นการเรียนการสอนแบบสองภาษา ซึ่งมีราคาค่าเทอมแพงมาก ไปจนถึงแพงสุด ทำให้โรงเรียนเอกชนหลายแห่งไปต่อไม่ได้ต้องปิดกิจการ เพราะไม่มีเงินว่าจ้างครูต่างชาติ หรือโรงเรียนบางแห่ง อาจทำได้โดยลดระดับต้นทุนครูต่างชาติลง โดยไม่ได้ดูคุณภาพ นอกจากนี้ที่ผ่านมามีโรงเรียนค่าเทอมถูกๆ ในท้องถิ่น สามารถสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีเช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่น เปิดให้คนในชุมชนที่มีความรู้ความสามารถ มาเป็นอาสาสมัครในการสอน
รศ.นพ.อดิศักดิ์ มองว่า การทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ ล้าหลังมานานในการควบคุมดูแลโรงเรียน เพราะบุคลากรคาดหวังแต่การไต่เต้า ขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง ทำให้มีการปล่อยปละละเลย ไม่มีการตรวจสอบโรงเรียนต่างๆให้ดำเนินตามมาตรฐาน และเห็นว่าส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง มีการดูแลโรงเรียนได้ดีกว่า ดังนั้นการที่ครูทำร้ายเด็ก จึงไม่ควรเหมารวมว่าครูเลวร้ายไปทั้งหมด เพราะหลายโรงเรียนมีการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอน
พร้อมยกตัวอย่างศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิตของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ได้ตั้งขึ้นมาดูแลเด็กอายุ 1 ขวบ ไปจนถึงอนุบาล 3 จำนวน 200 กว่าคน โดยดูแลเด็กที่ถูกทำร้าย ถูกทารุณกรรม ให้เรียนรวมกับเด็กปกติ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้กับเด็กเหล่านี้ เน้นการสร้างความสุข พัฒนาการของเด็ก ไม่เน้นการเรียนแบบเร่งรัด ให้ได้เรียนรู้ระหว่างเด็กกับครู และมีความปลอดภัย ทำให้เด็กมีตัวตนในโลก พยายามแก้ไขความเครียด ความกลัวที่เด็กรับมาจากบ้าน เพื่อให้เด็กยิ้มและหัวเราะ
“โรงเรียนไม่ใช่แหล่งทารุณกรรม ทำร้ายเด็ก แต่ควรเป็นแหล่งของชุมชนในการพัฒนาฟื้นฟูเด็ก ให้เด็กมีชีวิตเข้าสู่วิถีปกติ จากการที่มีครูที่ดี สร้างกิจกรรมการเล่นให้กับเด็ก เพราะเด็กเล็กๆ มีหลักสำคัญ คือ ต้องมีพ่อแม่ ไม่ใช่เฉพาะในบ้าน แต่ข้างนอกต้องมีพ่อแม่มาทำหน้าที่ทดแทน ในการดูแลเด็กให้ดี มีความสัมพันธ์ที่ดี มีความรัก ความอบอุ่นที่ดีกับเด็ก ไม่ใช่ดุดันใส่เด็ก ไม่ว่าโรงเรียนนั้นๆ จะถูกหรือแพง”
สรุปแล้วคนที่มาเป็นครู ไม่ใช่มีมาตรฐานในเรื่องความรู้เพียงอย่างเดียว ควรต้องมีมาตรฐานในการปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็ก ต้องทำหน้าที่พ่อแม่ทดแทนในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะกับเด็กปฐมวัย ดังนั้นพฤติกรรมของครูเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากมีการตอบสนองกับเด็กที่ไม่เหมาะสม มีการ “ทำร้ายเด็ก” ทางผู้บริหารโรงเรียนไม่ควรปล่อยปละละเลย ควรต้องมีการตรวจสอบดูแลตามมาตรฐาน อย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ อีก.
ผู้เขียน : ปูรณิมา
ที่มา https://www.thairath.co.th