เล่าสู่กันฟัง ( 17-02-2564 ) เรื่อง : ใช้ “ไม้เรียวตี” ส่งผลเด็กยิ่งก้าวร้าว
สัมภาษณ์ : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี
ประเทศที่มีกฎหมาย “ห้ามตีเด็ก” ประเทศที่มีการคุ้มครองเด็ก ป้องกันการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ครู หรือใครก็ตาม หากทำร้ายเด็ก ถือว่าทำผิดกฎหมายทันที!
ประเทศสวีเดน เป็นประเทศแรกที่เริ่มกฎหมาย ห้ามตีเด็ก โดยในปี ค.ศ. 1979 รัฐสภาสวีเดนลงคะแนนเสียงให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายว่าด้วยเด็กและผู้ปกครอง เพื่อให้ครอบคลุมการห้ามการลงโทษทางร่างกายและการปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร้ศักดิ์ศรี ปัจจุบันนี้กฎหมาย ระบุไว้ในมาตราที่ 6 วรรคที่ 1 ว่า:
“เด็กทุกคนพึงมีสิทธิที่จะได้รับการดูแล ความมั่นคงและการเลี้ยงดูที่ดีเด็กทุกคนพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในความเป็นปัจเจกบุคคล และจะต้องไม่ถูกลงโทษทางร่างกายหรือการปฏิบัติอย่างไร้ศักดิ์ศรีใดๆ ก็ตาม”
กฎหมายดังกล่าวห้ามไม่ให้พ่อแม่เลี้ยงดูบุตรโดยใช้ความรุนแรงหรือการปฏิบัติที่เป็นการทารุณจิตใจ แต่มิได้ห้ามไม่ให้พ่อแม่ยับยั้งบุตรในกรณีที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้บุตรหรือผู้อื่นได้รับอันตรายใด ๆ ก็ตาม
ขณะที่การห้ามการลงโทษทางร่างกายในประมวลกฎหมายว่าด้วยเด็กและผู้ปกครองมิได้มีบทลงโทษในตัวของมันเอง แต่การกระทำอันขัดต่อข้อห้ามดังกล่าวจะถูกลงโทษตามมาตรา 3 วรรคที่ 5 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกล่าวว่า ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเกิดอาการบาดเจ็บทางร่างกาย ทุกข์ทรมาน เจ็บปวด หรือทำให้อยู่ในสภาพไร้ความสามารถ ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน ทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือหากการทำร้ายร่างกายนั้น ไม่สาหัส ผู้นั้นพึงต้องถูกปรับหรือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน
หากผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำจะต้องระวางโทษอย่างน้อยหนึ่งปีจนถึงสูงสุด สิบปี โดยไม่คำนึงว่าผู้ถูกกระทำนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยกฎหมายนี้ ครอบคลุมถึงผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคุณครู หรือญาติ ก็ต้อง ห้ามตีเด็ก
ความคิดที่ว่าพ่อแม่และครู มีสิทธิหรือแม้แต่หน้าที่ที่จะต้องลงโทษเด็กทางร่างกายมีมานานแล้วในสังคมไทย เพราะเข้าใจกันไปว่าการลงโทษด้วยการตีหรือทำร้ายทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ เป็นการสอนให้เด็กรู้จักจำหากทำผิด ต่อไปจะได้ไม่ทำผิดซ้ำอีก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีมุมมองใหม่ ๆ ที่เล็งเห็นว่าการตีเด็ก หรือทำร้ายเด็กเพื่อสอน เป็นความคิดที่ผิด เพราะนอกจากจะเป็นการทำให้เด็กรู้สึกเจ็บปวดทางร่างกายแล้ว และยังส่งผลกระทบต่อเด็กทางจิตใจอย่างยากที่จะเยียวยาได้ รวมถึงส่งผลต่อบุคลิกภาพ แนวคิด และนิสัยของเด็กในอนาคต ดังนี้
เด็กที่ถูกทำร้าย มีผลต่อร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการอย่างไรบ้าง?
- กลัว วิตกกังวล จนมีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง อาเจียน เป็นต้น หากอาการกลัว วิตกกังวล ยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และอยากฆ่าตัวตายได้
- มีความยอมรับนับถือตนเองต่ำ (Low self esteem) ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง (Lacking of self confidence) ขาดความมั่นคงในจิตใจ (insecure) หวาดระแวงว่าผู้อื่นคิดร้าย (Paranoid) ภาวะรู้สึกว่าตนอ่อนแอ (Powerlessness) มักชอบเรียกร้องความสนใจ (Attention seeking)
- อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว ไม่สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผล ไม่สามารถใช้หรือยอมรับเหตุผล ไม่สามารถเข้าใจกฎแห่งเหตุและผล เพ้อฝัน มีกระบวนการทางความคิดที่แตกต่างจากบรรทัดฐานทางสังคม
- เด็กที่ถูกทำร้ายจะเกิดการ block หรือขัดขวางการสื่อสารระหว่างสมองส่วนอารมณ์ กับสมองส่วนหน้า หรือระหว่างสมองส่วนหน้ากับสมองส่วนหลัง หมายความว่าอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ข้างต้นที่เห็นได้ชัดคือ เด็กจะทำอะไรโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ
ผลกระทบต่อเด็กที่ถูกทำร้ายมีมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นไม่ควรมีเด็กคนใดต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัว เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรง การถูกทำร้าย การถูกละเลยทอดทิ้ง และการถูกแสวงประโยชน์ แนวคิดนี้ จึงได้มีการร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามการลงโทษเด็กในหลาย ๆ ประเทศ และยังมีการให้คำมั่นที่จะห้ามไม่ให้มีการลงโทษเด็ก ในรัฐภาคีสมาชิกของสมาพันธ์ในยุโรปอีกด้วย
ดูคลิป