เมื่อเข้าสู่ช่วงปิดเทอมใหญ่ของทุกปี มักมีเหตุสลดสะเทือนใจ “เด็กแอบชวนกันไปเล่นน้ำจนเสียชีวิต” เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆ กลายเป็นอุทาหรณ์เตือน “บรรดาผู้ปกครอง” ให้ตระหนักถึงภัยอันตรายใกล้ตัวนี้ ถ้าหากปล่อยบุตรหลานคลาดสายตาเพียงเสี้ยววินาทีมักมี “เรื่องร้าย” มาเยือนขึ้นได้
ส่วนใหญ่เกิดกับ “เยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี” เพราะชอบแอบหนีชวนกัน ไปเล่นน้ำตามแหล่งธรรมชาติที่เป็นจุดเกิดเหตุจมน้ำเสียชีวิตมากสุด ปัจจัยมาจาก “ผู้ใหญ่ไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของเด็ก” มัวแต่วุ่นอยู่กับการทำมาหากิน “ขาดความใส่ใจบุตรหลาน” ทำให้มีเหตุร้าย “เด็กจมน้ำ” ขึ้นบ่อยเป็นรายวัน
ข้อมูล “กระทรวงสาธารณสุข” ปี 2554-2563 เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 7,794 คน เฉลี่ยปีละ 779 คน หรือวันละ 2 คน “ในช่วงปิดเรียนหรือฤดูร้อน” เดือน มี.ค.-พ.ค.เฉลี่ยปีละ 263 คน ถ้าเฉพาะปี 2562 มีจำนวน 559 คน แต่ในปี 2563 แตกต่างจากทุกปี เพราะเป็นช่วงระบาดโควิด-19 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 531 คน
ส่วนใหญ่เกิดในวันเสาร์และวันอาทิตย์ของเดือน ก.ค. มีอัตราสูงที่สุด 55 คน เดือน มิ.ย. และเดือน พ.ย. 54 คน ช่วงเวลา 15.00-18.00 น. ในจำนวนนี้เด็กอายุไม่เกิน 2 ขวบ จมน้ำ 91 คน เป็นเด็กชายสูงมากกว่าเด็กหญิง 2 เท่า กลุ่มอายุ 5-9 ขวบ มีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนสูงสุดเท่ากับ 5.9
จุดเกิดเหตุแหล่งน้ำตามธรรมชาติร้อยละ 29.4 สระว่ายน้ำร้อยละ 7.2 อ่างอาบน้ำร้อยละ 4.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเสียชีวิตสูงสุดในอัตราเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 5.7 รองลงมาภาคกลาง 4.9
สะท้อนว่า…ปัญหาเด็กไทยจมน้ำนี้มีมากเป็นอันดับ 1 ถ้าเทียบกับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ทั้งโรคติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ สำหรับจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด คือ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ขอนแก่น นราธิวาส สกลนคร นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ และสงขลา
เฉพาะในปี 2564 ก็มีเหตุเด็กอายุ 7-9 ขวบ ชวนกันเล่นน้ำคลองขุดลอกใหม่ และเด็กจมน้ำเสียชีวิต 3 คน ในพื้นที่ อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด ล่าสุด “นักเรียน ม.3 ใน จ.กาฬสินธุ์” ก็จมน้ำเสียชีวิตในหนองน้ำใกล้โรงเรียนระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ เพราะ “ว่ายน้ำไม่เป็น” อีกทั้ง “ครู” ยังไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน
ปิดภาคเรียนนี้เป็นช่วงหมดฤดูฝนใหม่ที่ยังมีปริมาณน้ำอยู่มากอันจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุเด็กจมน้ำนั้น รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บอกว่า
ช่วงปิดเทอมใหญ่ “เด็กนักเรียน” เว้นว่างจากการเรียนไม่มีกิจกรรม ทั้งยังเป็นช่วง “ฤดูร้อน” อากาศตอนกลางวันค่อนข้างร้อนจัด “เด็กมักแอบหนีผู้ปกครองชวนกันไปเล่นน้ำ” ส่งผลให้มักมีข่าวร้ายกันบ่อยในเหตุ “เด็กตกน้ำ หรือจมน้ำเสียชีวิตสูงทุกปี” กลายเป็นช่วง 4 เดือนอันตรายที่ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
แต่ความจริงแล้ว “เด็กจมน้ำเสียชีวิต” ไม่ได้เกี่ยวโดยตรงกับ “ฤดูกาล” แต่มักมีความสัมพันธ์อยู่กับ “การปิดเทอม” ถ้ามีการย้ายช่วงปิดเทอมตรง “ฤดูใด” ก็คงมีตัวเลขเด็กจมน้ำสูงในช่วงนั้นเช่นเดิม
ส่วนใหญ่มักเป็น…“เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ” ที่ต้องตกเป็นเหยื่อการจมน้ำนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ คือ กลุ่มแรก…“เด็กอายุ 6-10 ขวบ” เป็นเด็กเล็กเข้าสู่วัยเด็กโต เริ่มออกวิ่งเล่นกับเพื่อนนอกบ้านเคลื่อนตัวไปไกลสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ เช่น หากหิวข้าวกลับบ้านมากินเอง ทำให้ “ผู้ปกครอง” เชื่อว่า “เด็กดูแลตัวเองได้ดี”
และคิดว่าเด็กรู้ความเสี่ยงอันตรายหลีกเลี่ยงภัยด้วยตนเองได้ จึงไม่เฝ้าดูใกล้ชิดอนุญาตปล่อยให้ไปเล่นนอกบ้าน แต่กลับแอบชวนกันไปเล่นน้ำตามบ่อ หนอง คลอง บึง สระว่ายน้ำในหมู่บ้านล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการจมน้ำทั้งสิ้น ในบางคนไม่ได้จงใจไปเล่นน้ำด้วยซ้ำ แต่อาจพลัดตกจมน้ำเสียชีวิตได้เสมอ
จริงๆแล้ว…“เด็กวัย 6 ขวบขึ้นไป” เป็นช่วงการเรียนรู้ ทั้งร่างกาย ความคิดทางเหตุผล และรู้จักผลกระทบความสัมพันธ์ความเสี่ยงได้ดี ดังนั้นถ้า “ผู้ปกครอง” บอกกล่าวสอนให้เด็กรู้จุดพื้นที่เสี่ยงอันตราย และฝึกฝนทักษะเอาตัวรอดจากการจมน้ำอย่าง “การลอยตัวนิ่งในน้ำ” ให้เด็กเกิดความคุ้นเคยโดยที่ไม่แสดงอาการตกใจ
ตั้งแต่การลอยน้ำแบบคว่ำ หรือหงายหน้า ทั้งยังว่ายเป็นท่าได้ดีแล้วจะเป็นการเพิ่มทักษะการเอาตัวรอดกรณีเกิดเหตุ “ไม่ให้เด็กจมน้ำ” ได้อย่างดี แต่อาจต้องได้รับการฝึกฝนจาก “ครูผู้เชี่ยวชาญ” อย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน
กลุ่มที่สอง…“เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ” เริ่มจาก “เด็กอายุ 3-5 ขวบ” มีลักษณะจมน้ำตามแหล่งน้ำรอบบ้าน เช่น บ่อน้ำ คลอง แอ่งน้ำ สาเหตุ “ผู้ดูแลเผอเรอชั่วครู่” ทั้งที่รู้เด็กอยู่ใกล้น้ำย่อมเป็นอันตรายยังปล่อยให้อยู่ลำพัง เช่น เดินหยิบสิ่งของห่างจากเด็ก รับโทรศัพท์ เปิดปิดประตูบ้าน ทำกับข้าว หรือเข้าห้องน้ำเพียงเสี้ยวนาทีเท่านั้น
ทว่า “เด็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ” กำลังหัดนั่ง คลาน ยืน มักจมน้ำเสียชีวิตตามแหล่งน้ำขนาดเล็กภายในบ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง อ่างในห้องน้ำ เพราะแม้ว่า “เด็กวัยนี้ทรงตัวไม่ดี” แต่ก็สามารถเคลื่อนตัวไปยังจุดแหล่งน้ำได้อยู่เสมอ ทำให้อาจล้มในท่าศีรษะทิ่มลงน้ำระดับเพียง 4-5 นิ้ว ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้แล้วด้วยซ้ำ
อันเกิดจาก “ความประมาท” ไม่ทันคิดว่า “แหล่งน้ำ” ภาชนะในบ้านจะเป็น “อันตราย” ทำให้เด็กจมน้ำ กลายเป็นเหตุโศกเศร้าของครอบครัวให้เห็นกันบ่อยๆ ดังนั้น “ผู้ปกครองควรสำรวจสภาพรอบบ้าน” ถ้ามีแหล่งน้ำในบ้านต้องปิดฝามิดชิด ปิดประตูห้องน้ำ หรือทำคอกกั้นเด็กอยู่ในจุดปลอดภัย เพื่อไม่ให้เคลื่อนย้ายมาจุดอันตราย
ย้อนไปสมัย 10-20 ปีก่อนนี้ “เด็กจมน้ำเสียชีวิต” มีอัตราค่อนข้างสูงเฉลี่ยปีละ 1,600 ราย “หน่วยงานภาครัฐและเอกชน” ต่างตระหนักปัญหานี้ดำเนินการป้องกันในมาตรการต่อเนื่อง ตั้งแต่การรณรงค์ และสื่อสารความเสี่ยงต่างๆ ทั้งกำหนดวันเสาร์แรกของเดือน มี.ค.ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกัน เด็กจมน้ำมาตั้งแต่ปี 2552
ตอนนี้ “ตัวเลขการจมน้ำ” มีแนวโน้มลดลงเหลือเฉลี่ย 700 คนต่อปี หรือเฉลี่ยตายวันละ 2 คน แยกเป็นเด็กต่ำกว่าอายุ 5 ขวบ 200 กว่าคน เด็กอายุ 6-9 ขวบ 200 กว่าคน และกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี 100 กว่าคน ใน
ปี 2565 กำหนดเป้าหมายเด็กต่ำกว่า 15 ปี ต้องลดเหตุจมน้ำเสียชีวิต 2 ต่อ 1 แสน ของประชากร หรือ 200-250 คนต่อปี
ตอกย้ำอีกว่า “กลุ่มเหลืออยู่ 200 กว่าคนนี้” กลับมีแนวโน้มไปใน “กลุ่มเด็กยากจน” ลักษณะครอบครัวเปราะบางทางสังคม ทำให้เสี่ยงสูงจมน้ำมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะอาศัยตามชุมชนเมือง เช่น ครอบครัวยากจนอพยพเข้าเมืองมาอาศัยตามชุมชนแออัด หรือสลัม ในสภาพแวดล้อมที่แทบไม่สามารถป้องกันได้ด้วยซ้ำ
แม้แต่ “บางครอบครัว” ไม่มีศักยภาพดูแลบุตรหลานได้เลย เพราะไม่มีเวลาต้องออกไปทำมาหากินรับจ้างทั่วไป หรือออกไปทำงานกลางคืน ซ้ำร้ายพ่อแม่บางคนกลับติดยาเสพติดอีก ดังนั้น “ชุมชนเปราะบาง” มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ขาดความสามารถดูแลความปลอดภัย ต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรท้องถิ่น
จัดตั้งผู้ช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองเด็กอันหมายถึง “สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย” ในการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชนนี้ให้สามารถสนองต่อเงื่อนไขด้านค่าใช้จ่ายของครอบครัว ที่ต้องมุ่งหารายได้เพื่อความอยู่รอดด้วย
ประการต่อมา…“มาตรการป้องกันเด็กวัย 6 ขวบขึ้นไป” เน้นเพิ่มทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ คือ 1.รู้จักหลีกเลี่ยงเข้าใกล้จุดเสี่ยง 2.ลอยตัวได้ 3 นาที 3.ว่ายท่าอะไรก็ได้ 15 เมตรตะกายเข้าฝั่ง 4.ช่วยเพื่อนถูกวิธีโดยตะโกน โยน ยื่น 5.ใช้ชูชีพเสมอเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ หรือต้องทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง
กลยุทธ์นี้จะทำให้เกิดการสอนทักษะในวงกว้างต้องเสริมพลังผู้สอนนอกระบบการศึกษา เช่น ครูสอนว่ายน้ำตามสระต่างๆ ให้สามารถรับภารกิจนี้ไปดำเนินการให้ได้ เพราะลำพังอาศัยการขยายผ่านโรงเรียนในระบบมักต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย ไม่สามารถจัดการสอนการฝึกทักษะได้ทันการตายรายวันของเด็กได้แน่นอน
อีกทั้ง “จัดการชุมชนให้มีความปลอดภัย” ด้วยชุมชนกระจายความรู้จุดเสี่ยงข้อควรระวัง จัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นพื้นที่อันตรายให้ปลอดภัย โดยเฉพาะจัดพื้นที่สนามเด็กเล่นในชุมชนให้เด็กมีจุดร่วมกิจกรรม ขอเสนอให้ศูนย์เด็กและเยาวชนที่มีพี่เลี้ยงชุมชนดูแลเพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์การจัดการความปลอดภัยในเด็กได้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้นแล้ว…“ปิดเทอมนี้” ไม่อยากเห็น “เด็กต้องจมน้ำตาย” แล้วมาให้ความสำคัญกันแบบที่ว่า “วัวหายล้อมคอก” เพราะเรื่องนี้ไม่มีคำว่า “รายสุดท้าย” ดีที่สุดจึงต้องป้องกันทำให้ปลอดภัยก่อนการสูญเสีย.
ที่มา ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 21 เม.ย. 2564