ม.มหิดล ให้ความเชื่อมั่น
ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 บุคลากร และนักศึกษา พร้อมรับเปิดเทอม และให้บริการประชาชน
ทุกชีวิตจำเป็นต้องมีการปรับตัวจึงจะสามารถอยู่รอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้ได้ เป็นหลักการเดียวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการปรับตัวสร้างภูมิต้านทาน ดังที่มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังจัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้บุคลากร และนักศึกษา พร้อมรับเปิดเทอม และให้บริการประชาชนอยู่ในขณะนี้
ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นผู้นำทางด้านสุขภาวะ คือ การจัดการให้ผู้ต้องทำงานสาธารณะไม่ว่าจะเป็นบุคลากร อาจารย์ หรือนักศึกษา ที่ต้องทำงานกับประชาชนไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การบริการวิชาการ การบริการสาธารณสุข ก็ตามแต่ เป็นผู้ให้บริการที่ไม่ไปสร้างความเสี่ยงแก่ผู้รับบริการ ครอบครัวผู้รับบริการ และสังคมโดยรวม และให้ผู้ให้บริการสาธารณะสามารถกลับมาทำงานให้เร็วที่สุดเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้าต่อไปให้ได้เร็วที่สุด
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานสร้างองค์ความรู้ของการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและครอบครัวให้แก่สังคมไทยมานานมากกว่า 20 ปี มีศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและอนุบาลสาธิตเปรียบเสมือนห้องทดลองสำหรับผลิตวิธีการพัฒนาเด็กที่อายุ หนึ่งปีครึ่งขึ้นไปถึงอายุหกปี และถ่ายทอดความรู้ที่ได้สู่ศูนย์พัฒนาปฐมวัยและโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ สำหรับการระบาดโควิดระลอกสามที่หนักหน่วงนี้ ขณะนี้สถาบันมีหน้าที่ค้นหาวิธีการจัดบริการศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลแบบนิวนอมอลเพื่อรองรับการระบาดระลอกที่ 3 ของโควิด 19 ที่รุนแรงรอบนี้ เพื่อให้นโยบายของรัฐที่ต้องการให้สถานศึกษาต่าง ๆเดินหน้าพัฒนาเด็กต่อ โดยให้เปิดการศึกษาตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายนเป็นต้นไป แต่ขอให้แต่ละพื้นที่ตัดสินใจตามสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดแต่ต้องมีความปลอดภัยสูงสุด
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าชูแนวทางที่ขั้นต่ำ 5 ประการที่ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนอนุบาลทั้งหลายทั่วประเทศจะเปิดให้บริการได้
1. สถานการณ์ภายในจังหวัดต้องอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และทางคณะกรรมการควบคุมการระบาดของจังหวัดมีมติเห็นชอบก่อนว่าให้สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยเปิดได้ ..
2. ผู้ให้บริการทุกคนไม่ว่าจะเป็น ครู พี่เลี้ยงเด็ก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนทุกประเภท ต้องได้รับวัคซีน 100 % อย่างน้อย 1 เข็มแล้ว เช่นเดียวกับที่ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การบริหารโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการฯ ซึ่งมีกำหนดเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ด้วยหลักการ “ร่วมรับความเสี่ยงด้วยความไม่ประมาท” โดยก่อนเปิดเรียนได้จัดให้ครู พี่เลี้ยง และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ถึง 100%
สำหรับเด็กปฐมวัยนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่เหมาะสม แต่มีแนวโน้มของวัคซีนบางประเภทที่เริ่มทำการวิจัยและมีการรายงานผลว่าสามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป ยังรอผลการพิสูจน์ถึงความปลอดภัย ซึ่งทางสถาบันกำลังติดตามข้อมูลใกล้ชิด ในขณะนี้ก็ยังต้องอาศัยภูมิต้านทานจากพ่อแม่ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง
ดังนั้น ทางสถาบันจึงรณรงค์ให้พ่อแม่ทุกคน โดยเฉพาะมีเด็กปฐมวัยในการดูแล และยังมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่หรืออยู่บ้านเดียวกับปู่ย่าตายาย ให้เห็นความสำคัญของวัคซีนทุกยี่ห้อที่รัฐบาลนำมาใช้ ไม่กลัววัคซีนแต่ให้คำนึงถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ความปลอดภัยของครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกชีวิตจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อพร้อมรับสถานการณ์อยู่เสมอด้วยการก้าวไปข้างหน้าบนวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งทางสถาบันได้พบปะพูดคุยกับผู้ปกครองทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อรณรงค์ในเรื่องวัคซีนนี้และได้มีการซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน
3. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวต่อไปว่า แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่การจัดบริการภายในห้องเรียน จะต้องยังคงต้องเป็นแบบ นัวนอมอล โดยแบ่งกลุ่มเด็กแบบ small bubble กลุ่มละไม่เกิน 10 คน ต่อผู้ให้บริการ 2 – 3 คน โดยแต่ละกลุ่มจะแยกทำกิจกรรมกันตามมาตรการรักษาระยะห่าง โดยจะรักษาระยะห่างจากกลุ่มอื่นอย่างเข้มงวดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าที่พ่อแม่มาส่ง จนถึงเย็นที่พ่อแม่มารับ ดังนั้นความเสี่ยงในการติดต่อโรคจะเกิดขึ้นภายใน 10 คนในกลุ่มเท่านั้น (group distancing) ซึ่งครอบครัวของเด็กทั้ง 10 คนก็จะต้องรู้จักกัน เข้าใจกัน และยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน
4. สำหรับครอบครัว ที่ไม่สบายใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรม หรือครอบครัวที่มีความเสี่ยง หรือเกิดเหตุความเสี่ยงจากคนใดคนหนึ่งภายในกลุ่ม ทางสถาบันจัดให้มีการหยุดอยู่บ้านทันที โดยมีการคืนเงินค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวต้องจ่ายส่วนเกินกว่าส่วนที่รัฐสนับสนุนในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ชุดละ 14 วันโดยคิดคำนวณจากวันทำการเป็นการ แต่ยังคงจัดการศึกษาออนไลน์เฉพาะกลุ่มให้กับกลุ่มเด็กเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ทุกครอบครัวสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดการดูแลลูกเองที่บ้านทันทีที่มีความเสี่ยงโดยได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการชดเชยค่าใช้จ่าย และไม่ถูกทอดทิ้งจากระบบบริการที่ยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้ทางสถาบันขอให้ศูนย์พัฒนาปฐมวัยและอนุบาลทั้งของภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับเรื่องการชดเชยค่าใช้จ่ายที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้วคืนกลับครอบครัวเพื่อคามเป็นธรรมและเพิ่มความยืดหยุ่นของการจัดการลดความเสี่ยงของการระบาดด้วย
5. สถาบันจะประสานงานกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อจัดระบบเฝ้าระวังการระบาดในกลุ่มเด็กมที่มาอยู่ด้วยกัน โดยจะทำการสุ่มตรวจน้ำลายหาเชื้อโควิดแบบกลุ่ม เพื่อเฝ้าระวังทุก 3 สัปดาห์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศต่อไปได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 นี้เป็นต้นไป จะเปิดโอกาสให้ครูและผู้ที่ให้บริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศได้สมัครเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์ใน หลักสูตรเรื่อง “ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยและอนุบาล New Normal ระดับ 3 เพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3”
โดยหลักสูตรนี้จะมีทั้งการเรียนและการแลกเปลี่ยนกัน มีทั้งการเรียนสดทุกวันโดยจะจัดให้มีเวทีถ่ายทอดสดในทุกเช้าของแต่ละวัน วันละ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือนเต็ม และการเรียนย้อนหลังวันต่อวัน และเข้าร่วมอภิปรายกันเมื่อพร้อม
สำหรับผู้สนใจ และยังไม่เป็นสมาชิกของ เครือข่ายเพื่อจัดการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัย ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนที่ https://bit.ly/33WqV8y
หลังสมัครแล้วให้รอการสมัครลงทะเบียนในหลักสูตรนี้ในวันที่ 21 มิถุนายนเป็นต้นไป
สำหรับผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิกซ้ำ