รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำกิจกรรมการเรียนการสอน การดูแลเด็กระดับปฐมวัยในช่วงโควิด-19 ว่า ต้องเน้นให้เด็กมีความยืดหยุ่นได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนและครูอย่างหลากหลาย
เนื่องจากช่วงที่โรงเรียน ศูนย์ดูแลเด็กต้องปิดชั่วคราวเพราะโควิด-19 ทำให้เด็กถูกจำกัดการทำกิจกรรม จนส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้า
ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่าในเด็กปฐมวัยนอกจากพัฒนาการจะล่าช้าแล้ว บางคนยังมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากเพื่อน ครู และมีความก้าวร้าว สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กกลับมามีพัฒนาการตามปกติของช่วงวัย ครู ผู้ปกครองต้องช่วยกัน ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ฟื้นฟูจิตใจให้เด็กรู้สึกว่ามีตัวตน มีความสำคัญกับคนรอบข้าง ปรับกิจกรรมสันทนาการให้เด็กได้เล่น เรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งนอกจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กแล้ว ครู เพื่อนที่โรงเรียนก็เป็นส่วนสำคัญ
เพราะจากการศึกษาพบว่าเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงที่เด็กได้กลับเข้าสู่ระบบการเรียนปกติ พบเพื่อน และครู สามารถช่วยฟื้นฟูพัฒนาการเด็กได้ดีขึ้นเห็นผลอย่างชัดเจน ทั้งนี้จากการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ยังพบว่า
พัฒนาการล่าช้าของเด็กไม่ได้มาจากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่บางคนยังได้รับผลกระทบความรุนแรงในครอบครัว ที่ผ่านมาได้ประสานทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในกลุ่มที่ครอบครัวมีปัญหา เพื่อขอให้ตระหนักถึงความรู้สึกของเด็กเพราะหากต้องรับรู้และซึมซับกับความรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่วมกับไม่ได้ทำกิจกรรมสันทนาการละลายพฤติกรรม จะทำให้การฟื้นฟูพัฒนาการล่าช้าตามไปด้วย