ผลการสำรวจ “ทาเลท”สารอันตรายต่อระบบสืบพันธ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก
“พลาสติก Food Grade คือ พลาสติกที่มีความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้บรรจุอาหารพลาสติกบางประเภทไม่สามารถนำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารได้เพราะเป็นพิษอันตราย บางชนิดนำเอาสารเคมีบางอย่างมาเป็นส่วนผสมทำให้เป็นอันตราย สารอันตรายชนิดหนึ่งได้แก่ กลุ่มสารทาเลต (Phthalates) ซึ่งเป็นกลุ่มเพิ่มภาวะการคืนรูป (plasticity) ลดความหนืด (viscosity) โดยรวมทำให้มีสภาวะความอ่อนนิ่มมากขึ้น สารนี้สามารถเคลื่อนย้ายออกจากภาชนะไปเกาะติดกับอาหารได้ เมื่อกินเข้าไปจะเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย”
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สุ่มเก็บตัวอย่างกล่องพลาสติกบรรจุอาหาร จำนวน 30 ตัวอย่าง จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด ร้านอาหารเดลิเวอรี่ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งทดสอบที่ห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในเดือนตุลาคม 2564
โดยส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารทาเลต (phthalates) 6 ชนิด โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าว ติดตามผลการสำรวจ “ทาเลท” สารอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อํานวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อํานวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและนักวิชาการศูนยท์ดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าวในการสำรวจสารทาเลท สารที่มีอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก จากการสุ่มเก็บกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหาสารทาเลท
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า สรุปผลการวิเคราห์เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า กล่องพลาสติกบรรจุอาหารทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารบีพีเอ และสารทาเลท เกินกว่าค่ามาตรฐานในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก โดย “พลาสติก Food Grade” ถือเป็นพลาสติกที่มีความปลอดภัยเมื่อนํามาใช้บรรจุอาหาร พลาสติกบางประเภทไม่สามารถ นํามาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารได้เพราะเป็นพิษอันตราย บางชนิดนําเอาสารเคมีบางอย่างมาเป็นส่วนผสมทําให้เป็นอันตราย ซึ่งสารอันตรายชนิดหนึ่งได้แก่ กลุ่มสารทาเลท (Phthalates) เป็นกลุ่มเพิ่มภาวะการคืนรูป ลดความหนืด โดยรวมทําให้ภาชนะมีสภาวะความอ่อนนิ่มมากขึ้น สารนี้สามารถเคลื่อนย้ายออกจากภาชนะไปเกาะติดกับอาหารได้ เมื่อกินเข้าไปจะเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายได้ โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้น ในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศจึงได้มีการควบคุมการใช้สารทาเลท
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ กล่าวว่า เราใช้กล่องบรรจุอาหารพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้บริโภคซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน การสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือจากแอปสั่งอาหาร ทำให้ภาชนะบรรจุอาหารเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมาก และจากข้อมูลผู้บริโภคชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 22.7 ต้องการให้ทดสอบสำรวจบริการนำส่งอาหาร และถ้าผู้บริโภคต้องการให้นิตยสารฉลาดซื้อทดสอบอะไรก็แจ้งเข้ามาได้ ในอนาคตอันใกล้นี้ฉลาดซื้อมีแผนจะทดสอบโคยใช้ข้อมูลความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 1,143 กลุ่มตัวอย่าง จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร บอกเราว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการเฝ้าระวัง และต้องการให้การทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ มากถึงร้อยละ 77.2 และคิดว่าจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2 ซึ่งก็ตรงกับอำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เข้ามาสนับสนุนให้นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฝ้าระวังสินค้าบริการผ่านการทดสอบและสำรวจ
นายโสภณ หนูรัตน์ กล่าวว่า การเฝ้าระวังสินค้าและบริการเป็นหน้าที่หนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ภายใต้ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สอบ. มีแผนงานสำคัญในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค โดยจัดทำโครงการสนับสนุนและดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่กระทบต่อสิทธิผู้บริโภค เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคทันต่อสถานการณ์ กำหนดให้มีการสนับสนุนการทดสอบ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจากการสำรวจหรือทดสอบ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลอย่างรอบด้าน เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภค
ผู้ร่วมแถลงข่าว โดย
- รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
- นายโสภณ หนูรัตน์
ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บรฺโภค
- นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์
รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนักวิชาการศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สอบถามรายละเอียดได้ที่
- นายนฤชิต ตันประยูร 089-123-9182
- คุณณชนิษฎา โทร 0813563591
- คุณนุจนา โทร 0864 770594 ID Line nuchkan85