พ.ร.บ.ความผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรง “ฉีดให้ฝ่อเหมือนตัดแขนขา” หรือเรากำลังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด?

พ.ร.บ.ความผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรง “ฉีดให้ฝ่อเหมือนตัดแขนขา” หรือเรากำลังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด?

คดีกระทำรุนแรง โดยเฉพาะความผิดทางเพศเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมหลายครั้ง เพราะเมื่อมีคดีลักษณะนี้เกิดขึ้น เมื่อสืบสาวย้อนลงไป มักพบว่าความผิดล่าสุดไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นการกระทำความผิดซ้ำในรูปแบบเดิมๆ

ตัวอย่างไม่นานมานี้คือ หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งก่อเหตุข่มขืนผู้พักอาศัยในคอนโดฯ เมื่อตรวจสอบประวัติ พบว่าหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยรายนี้เคยต้องคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มาก่อน

เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำซากในคดีอุกฉกรรจ์ที่อาจรุนแรงถึงชีวิต จึงมีความพยายามออกกฎหมายป้องกันการทำความผิดซ้ำ ด้วยความหวังว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยลดปัญหาการเกิดอาชญากรรมลักษณะเดิมๆ โดยผู้ก่อเหตุหน้าเดิมๆ

ร่าง พ.ร.บ.ความผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรง ผ่านสภาฯ วาระ 3

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำคดีเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรง หรือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 จากสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสนอโดย พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ และคณะ ผ่านการลงมติด้วยคะแนนเห็นด้วย 320 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 322 คน

ร่าง พ.ร.บ.ความผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรง ใช้กับความผิด 3 ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง ความผิดเกี่ยวกับเพศ คือ 

– ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

– ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

– ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย

– ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

– ความผิดฐานพาเด็กอายุเกิน 15 แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อทำอนาจาร

– ความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหรือใช้กำลังประทุษร้าย

 ประเภทที่สอง ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย คือ

– ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

– ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย

– ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นอันตรายสาหัส

ประเภทที่ 3 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ 

– ความผิดฐานลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่


สิ่งที่น่าสนใจในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ที่การฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับเพศ และติดกำไลอีเอ็มเพื่อเฝ้าระวังหลังจากผู้กระทำผิดพ้นโทษไปแล้ว

ซึ่งการฟื้นฟูผู้กระทำผิดที่ว่านี้หมายความถึงการใช้มาตรการทางการแพทย์โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ใช้บำบัดรักษาผู้กระทำความผิดเพื่อป้องกัน การกระทำความผิดซ้ำ ทั้งนี้รวมถึงการให้ยาหรือสารเคมีด้วย

นั่นคือสิ่งที่สังคมเรียกอย่างย่อสำหรับผู้กระทำความผิดคดีเกี่ยวกับเพศซ้ำคือ ‘การฉีดให้ฝ่อ’

การฉีดให้ฝ่อคืออะไร

การฉีดให้ฝ่อว่า หรือ Chemical Castration เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่แพทย์จะทำการฉีดยาเพื่อควบคุมการหลั่งฮอร์โมน ในกรณีนี้คือฮอร์โมนเพศชายเป็นระยะๆ จุดประสงค์เพื่อให้อัณฑะไม่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย และหากฮอร์โมนเพศชายถูกกดลงจนอยู่ในระดับต่ำมาก ก็จะไม่ต่างกับการตัดอัณฑะออกไป อวัยวะเพศไม่แข็งตัว และไม่มีความต้องการทางเพศ

ตัวอย่างประเทศที่ใช้วิธีฉีดให้ฝ่อเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดซ้ำล่าสุดคือ ปากีสถาน ที่เพิ่งผ่านเป็นกฎหมายเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่วนประเทศอื่นที่มีการใช้มาตรการนี้กับผู้เคยกระทำความผิดมากกว่าหนึ่งครั้ง เช่น สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ เกาหลีใต้ และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการฉีดยาเพื่อลดฮอร์โมนเพศนี้มีมากมาย ฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุนโทษประหารสำหรับนักโทษข่มขืนซ้ำซากจะเห็นว่าการฉีดให้ฝ่อคือวิธีการแสนปรานีของสังคม อีกทางหนึ่ง หากมองในแง่สิทธิมนุษยชน นี่คือการลดทอนความเป็นมนุษย์ ตัดโอกาสในการปรับปรุงพฤติกรรม แถมวิธีการใช้ยานี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูงตามมา ยังไม่รวมถึงกรณีที่ว่า จำเลยในคดีนั้นเป็นแพะ ผลลัพธ์ก็จะกลายเป็นด้านลบมากกว่าบวก

กฎหมายใหม่ ฉีดให้ฝ่อ ใส่อีเอ็ม แก้ปัญหาเก่าตรงจุดจริงหรือ

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ตรงตามชื่อ คือ ‘ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ’ ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังพูดถึงกันจึงไม่ใช่การให้ผู้กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับเพศไปหาโทษประหาร แต่การใช้มาตรการทางการแพทย์ที่กระทำต่อร่างกายบุคคล ในด้านหนึ่งก็อาจมองว่าเป็นวิธีการที่โหดร้ายในระดับตายทั้งเป็นได้เช่นกัน

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการนำมาตรการทางการแพทย์ในการลดฮอร์โมนทางเพศไปใช้เป็นวิธีการลงโทษเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำว่า

“วิธีการที่เรียกว่าการฉีดยาเพื่อให้หมดความรู้สึกทางเพศ เป็นการฉีดยาหรือฮอร์โมนเพื่อกดความรู้สึกทางเพศ เป็นการรักษาพยาบาลที่อาจกระทำได้ เมื่อบุคคลให้ความยินยอมซึ่งเกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น หรือเป็นผลมาจากการประเมินโดยผู้ชำนาญการทางการแพทย์ว่ามีความเหมาะสม และอาจใช้ได้ดีสำหรับผู้ที่ต้องได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วย

แต่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษโดยไม่มีความยินยอม อาจถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี นอกจากนั้น ยังเป็นการปฏิบัติที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ โดยเป็นการปฏิบัติงานนอกเหนือจากกรอบการวินิจฉัยทางการแพทย์และจริยธรรมทางการแพทย์

ตัดนิ้วมือปืนทิ้งเพื่อไม่ให้เหนี่ยวไก คือทางแก้ปัญหา?

เมื่อโจทย์ของกฎหมายฉบับนี่คือต้องการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ และการลงโทษด้วยการฉีดให้ฝ่ออาจเป็นวิธีที่ยังถูกตั้งคำถามมากมาย ขั้นตอนแรกที่ควรทำ คือการถอยออกมามองที่ตัวความผิด การดำเนินคดี และขั้นตอนหลังจากนั้น ว่าปัจจุบันมีภาพรวมเป็นอย่างไร ทำไมปลายทางของการกระทำความผิดซ้ำตาม ร่าง พ.ร.บ.ความผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรง ถึงถูกรวบรัดตัดตอนไปหาการ ‘ฉีดให้ฝ่อ’

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี ให้ความเห็นถึงการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับเพศว่า

“หลักการคือมีการจับกุมคนกระทำผิด ดำเนินคดี คือทำให้ผู้กระทำผิดเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่กระทำผิด แล้วก็ปรับปรุงตัว แก้ไขตนเอง”

นายแพทย์อดิศักดิ์กล่าวว่า ขั้นตอนหนึ่งหลังจากถูกจับกุมและคุมขังคือ ต้องมีกระบวนการในการแก้ไขตนเอง เช่น การฝึกอบรม การพบจิตแพทย์ การวิเคราะห์สภาพจิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น

“เรารู้ว่ากระบวนการพวกนี้เราอ่อนแอทั้งหมด ไม่มีใครทำ”

ส่วนเรื่องการใช้ยาหรือสารเคมีเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นายแพทย์อดิศักดิ์มองว่า เป็นวิธีที่ช่วยได้ในหลายกรณี เช่น การลดพฤติกรรมก้าวร้าว ให้ควบคุมตนเองได้ง่าย แต่การใช้ในบางลักษณะ อย่างการฉีดให้ฝ่อ ก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดแบบนั้น

การให้ยาเพื่อทำลายร่างกายบางส่วนออกไป มันเหมือนตัดแขนตัดขา โดยหลักมันไม่ควรจะทำได้ เหมือนขโมยไปขโมยของแล้วตัดแขนทิ้ง หรือชอบยิงปืน ก็ตัดนิ้วทิ้งให้หมด ไม่ให้เหนี่ยวไกได้ เหมือนกัน การชอบข่มขืนแล้วไปฉีดให้ไข่ฝ่อ หรือถึงขั้นตัดอวัยวะเพศ มันเหมือนการทำลายร่างกายคน

ผู้กระทำซ้ำๆ มักมีปัญหาเหมือนกัน คือสภาพจิตใจ การให้โอกาสปรับปรุงตัวก็เป็นการแก้ไขได้ทางหนึ่ง แต่นายแพทย์อดิศักดิ์ก็เห็นด้วยว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ในระยะเวลาที่ถูกคุมขังไว้ในเรือนจำ

“ก็ต้องยอมรับนะ ว่ามีคนกลุ่มหนึ่ง เวลาของการคุมขังเพียงพอต่อการแก้ไข ถ้ากระบวนแก้ไขดี แต่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ต่อให้ต่อเวลาเท่าไรก็ไม่ดี”

สำหรับคนที่ไม่สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนพฤติกรรมได้ หากได้รับอิสรภาพ ก็เห็นโอกาสค่อนข้างชัดว่าก่อเหตุซ้ำแน่ๆ หากสามารถกำหนดโทษระยะยาวได้ ก็อาจควบคุมตัวผู้ก่อเหตุรายนั้นๆ ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้สังคมได้ แต่ข้อเท็จจริงของกฎหมายก็มักมีตัวเลขกำหนดไว้เสมอ

“ยกตัวอย่างเช่น ล่วงละเมิดทางเพศหนึ่งครั้ง เจอ 7 ปี ดูแล้วยังไม่เปลี่ยนนิสัยแน่ๆ กระบวนการพัฒนาในระหว่างจับกุม ถ้ามีการวิเคราะห์ให้ดี แล้วติดตาม เห็นว่ายังไม่ปรับปรุงตัว แต่โทษตามคดีได้แค่ 7 ปี ก็ต้องปล่อยตัว ก็ต้องมีกระบวนการติดตามต่อ ติดกำไลอีเอ็ม หรือนัดมารายงานตัว หรือเฝ้าดูใกล้ชิด ซึ่งบ้านเรายังไม่ค่อยมีพวกนี้ การวิเคราะห์ก็ยังไม่มี จับก็จับจริงๆ เอามาฝึกอาชีพ จะมาฝึกให้รักสังคม รักคนอื่น ดูแลซึ่งกันและกัน มันไม่มี”

ในส่วนของกำไลอีเอ็ม ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ถูกระบุไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ความผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศ-ความรุนแรง เพื่อจำกัดการกระทำ เฝ้าระวัง และติดตาม

“ถ้าติดตามก็แสดงว่าระหว่างจับกุมเขายังไม่เปลี่ยนนิสัย เลยต้องติดตาม คำถามคือว่า มีการวิเคราะห์หรือเปล่า ว่าได้ทำอะไรให้เขาเปลี่ยนนิสัยหรือยัง และก่อนออกมาวิเคราะห์หรือยังว่าเขาเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน กระบวนการเหล่านี้เราไม่มี รู้แต่ว่าคนส่วนใหญ่ออกมาแล้วไม่หาย ยังไม่ดีเหมือนเดิม ก็เลยต้องใส่เพื่อติดตาม”

หากโทษตามความผิดมีระยะเวลาจำกัดเอาไว้ ไม่สามารถที่จะจำขังผู้กระทำผิดได้นานกว่านั้น ก็ต้องมีระบบการติดตาม การติดกำไลอีเอ็ม คือหมดเวลาของการจับกุมแล้ว ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่าผู้กระทำผิดยังมีความเสี่ยงต่อสังคมอยู่ จึงต้องมีการดูแลติดตามกันต่อไป แต่การติดอีเอ็มที่เรากำลังทำ เหมือนกับการไปตามจับอีกครั้ง

ติดอีเอ็มต่อเพื่ออะไร เพราะกระบวนการที่จับเขาไปขังคุก 7 ปี 10 ปี เป็นกระบวนการที่ไม่ได้พัฒนา เพราะปล่อยออกมาเหมือนเดิมแน่นอน ดังนั้นก็ติดกำไลอีเอ็มเพื่อไปไล่ตามจับอีกรอบแค่นั้นเอง

ความเห็นของนายแพทย์อดิศักดิ์คือ ความผิดลักษณะนี้เป็นเรื่องจำเพาะเจาะจง มาตรการที่ควรมีและใช้ได้จริงคือ กระบวนการวิเคราะห์ความผิดปกติทางจิตใจ แก้ไข ฟื้นฟู ปรับปรุงพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งการใช้ยาช่วยควบคุมก็เป็นขั้นตอนหนึ่ง

“ต้องมีการปรับปรุงหน่วยงานจิตวิเคราะห์ ทำการพัฒนา หรือทำงานทางวิชาการให้เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อเปลี่ยนคนที่ก่อความก้าวร้าวกับคนอื่น

“โอเคว่าโปรแกรมพวกนี้มันยาก ทำไปก็ไม่รู้เปลี่ยนได้แค่ไหน คือบางคนก็เปลี่ยนแค่ระดับหนึ่ง แต่ของเราไม่มีเลย รู้แต่ว่าพอปล่อยออกมาวันไหนเขาก็มักจะไปทำต่อ ก็แน่นอน เพราะตอนจับไปไม่ได้ทำอะไร แค่ให้รู้ว่าโทษคุณควรโดนหนักแค่ไหน”

นายแพทย์อดิศักดิ์ยกตัวอย่างศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก หรือ ‘บ้านกาญจนาฯ’ ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการโดย ทิชา ณ นคร เป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับเรื่องการให้โอกาสที่สองในการปรับปรุงพฤติกรรมเยาวชน

“บ้านกาญจนาคือตัวอย่างที่สามารถให้เด็กใช้ชีวิตได้ ทั้งๆ ที่คดียังไม่จบ เพราะคนเปลี่ยนได้ โดยไม่ต้องติดกำไลอีเอ็ม”

หลักการของบ้านกาญจนาคือความเชื่อที่ว่า ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร การให้อภัย และคืนความเป็นคนให้ผู้กระทำผิด

ตัวอย่างสำคัญของบ้านกาญจนาฯ คือกรณีของ เล็ก-ธนากร อาจรักษา และ ใหญ่-วัชระมงคล ธัญญะเจริญ

เล็กมีเหตุทะเลาะวิวาท แทงคนเสียชีวิต และคนที่แทงคือพ่อของใหญ่ ความผิดนี้ทำให้เล็กต้องเข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ และด้วยความแค้น ใหญ่ ซึ่งโดนคดีปล้นทรัพย์ จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนา โดยมีเป้าหมายว่า ชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต

แต่ด้วยความเชื่อในหลักคืนความเป็นคนของ ทิชา ณ นคร และระบบของบ้านกาญจนาฯ ทั้งสองจึงเดินเข้าสู่จุดที่ให้อภัยกันได้ และกลายเป็นเพื่อนรักกันในเวลาต่อมา


 

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

บรรณาธิการสายสังคมการเมือง

ที่มา https://plus.thairath.co.th/author/60a76f1b860fc200134255d5

 

โปรดแสดงความคิดเห็น