
ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดโควิด-19 ระลอกใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มทุกวัน “กระทรวงศึกษาธิการ” ได้ออกประกาศให้ “สถานศึกษา ของรัฐ และเอกชน” เปิดการเรียนการสอนปกติพร้อมกันในวันที่ 1 ก.พ.2564 ยกเว้น “พื้นที่สีแดง จ.สมุทรสาคร” และห้ามมีการออกนอกพื้นที่อยู่เช่นเดิม ส่วนอีก 4 จังหวัด คือ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ปทุมธานี และนนทบุรี ให้เปิดเรียนแบบมีเงื่อนไขในการจำกัดนักเรียนไม่เกิน 25 คนต่อห้อง
ทว่าปัจจัยที่ต้อง “เปิดเรียนในสถานการณ์โรคระบาดใหม่” ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเด็กขาดการเรียนรู้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “กลุ่มเปราะบาง” ไม่ได้รับการเรียนต่อหยุดเรียนถาวร อีกทั้ง “เด็กอนุบาลก็เรียนออนไลน์ไม่ได้” เพราะครอบครัวไม่พร้อม ไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้เต็มที่ ทำให้พัฒนาล่าช้ากลายเป็นติดเกมซ้ำแทน…
หนำซ้ำบางพื้นที่ยังเจอ “ความเหลื่อมล้ำ” ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต ได้ เพราะครอบครัวยากจน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายจากระบบการเรียนแบบนี้
อีกทั้งข้อมูล “กรมอนามัย” นับแต่มีโควิด-19 ในรอบแรกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ธ.ค.63 มีผู้ติดเชื้ออายุ 0-18 ปี 207 ราย ที่เป็นกลุ่มเดินทางกลับจากต่างประเทศ ส่วนระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 ถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 71 ราย ที่เกิดจากสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัว แต่ยังไม่พบการติดเชื้อจาก “ครูสู่นักเรียน” ในโรงเรียน
เหตุปัจจัยนี้ทำให้ “ศบค.ชุดเล็ก” พิจารณาเสนอมาตรการผ่อนคลายต่อ “ศบค.ชุดใหญ่” ให้กลับมาเปิดเรียนได้วันที่ 1 ก.พ.นี้…ที่คงเน้นมาตรการตามหลักของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก ล้างมือสม่ำเสมอ รักษาระยะห่าง งดกิจกรรมรวมตัวกัน ทำความสะอาดพื้นที่โรงเรียนบ่อยๆ
นับเป็นความท้าทายสำคัญของ “ระบบการศึกษาไทยในสถานการณ์โรคระบาด” ที่ไม่ใช่แค่ความปลอดภัยในโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องพร้อมเรียนรู้ ควบคู่กับทักษะปรับตัว “สู่โลกใหม่” ให้มีประสิทธิภาพในอนาคตด้วย

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี บอกว่า ในช่วงโรคระบาดนี้ “โรงเรียน” จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลป้องกันแก่ “เด็กนักเรียน” ให้มีความปลอดภัยห่างไกลจากโรคระบาดด้วย
โดยเฉพาะ “เด็กวัย 3-6 ขวบ” มักไม่ระวังตัวดูแลป้องกันตัวเองได้ดีนัก ทำให้ “สถานศึกษา” ต้องมีส่วนเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการแวดล้อมในโรงเรียนให้มีความปลอดภัยที่สุด เพราะ “เด็กวัยเรียน” ต้องมีกิจกรรมรวมกลุ่มกับเพื่อนฝูงอยู่เสมอ และมีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคง่ายยิ่งขึ้นตามมา…
แต่ว่ามาตรการดูแลนี้ก็ต้องคำนึงถึง “วิถีชีวิตเด็ก” เป็นหลัก ที่ไม่ใช่ลักษณะเป็นการกดดันที่อาจก่อให้ “เกิดภาวะความเครียด” กลายเป็นกระทบต่อการพัฒนาการเรียนรู้รุนแรงตามมา…
ในส่วน “ผู้ปกครอง” ต้องกลั่นกรองข้อมูลข่าวครบทุกด้านอย่างถูกต้อง “ตระหนักได้แต่อย่าตื่นตระหนกเกินไป” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการป้องกันอย่างเข้าใจแท้จริง เพราะถ้ารับข้อมูลข่าวมาแบบผิดๆ อาจส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวนำไปสู่ “ความกังวลสร้างความเชื่อให้เด็กแบบผิดๆ” ต่อไปอีก
กลายเป็นผลกระทบให้ “เด็กต้องเจอสภาวะความกดดัน” ที่เป็นการก่อให้เกิด “ความเครียดสูง” สุ่มเสี่ยงต่อ “โรคย้ำคิดย้ำทำ” ทำให้เกิดความกังวลตอบสนองความคิดพฤติกรรมซ้ำๆ จนไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนใหม่ๆก็ได้
ดังนั้น “ผู้ปกครอง” ต้องใช้โอกาสนี้เริ่มสร้างการรับรู้การใช้ชีวิตแบบ ยืดหยุ่นให้ “เด็ก” เข้าใจในสถานการณ์ “สังคมโลก” ที่กำลังเปลี่ยนไป เพื่อ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีทักษะพร้อมรับกับสิ่งที่จะเข้ามาใหม่ๆ และปรับตัวอยู่รอดกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น “โรคอุบัติใหม่ และภัยพิบัติธรรมชาติ” นับวันยิ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

ตัวอย่างเช่น…PM 2.5 แผ่นดินไหว ภัยแล้ง วาตภัย ภาวะโลกร้อน โรคระบาดรุนแรง ที่เกิดผลกระทบลักษณะเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ไปจนแบบฉับพลันรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ดังนั้นตอนนี้ต้องสร้างการรับรู้ในการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลก เพื่อจะได้ปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสภาวะในขณะนั้นได้
ย้อนมา…“เรื่องเปิดเรียนยุคโควิด-19” ในมาตรการป้องกันโรคในโรงเรียนนี้อาจจะไม่แตกต่างไปจากการป้องกันโรคติดเชื้อชนิดทั่วไป ที่มักเคยเกิดขึ้นบ่อยๆทุกปี และมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันประจำกันอยู่แล้ว เช่น มาตรการป้องกันไวรัสอาร์เอสวี ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก ไมโครพลาสมา เป็นต้น
ครั้งนี้ “โรงเรียน” ก็แค่ต้องเพิ่มการเรียนรู้ทักษะ “สุขอนามัย” ที่เป็นรากฐานให้ “นักเรียน” ดูแลสุขภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่เป็นโรคติดต่อตัวใหม่ เบื้องต้น “เด็กหลายคน” ต่างรับรู้ข้อมูลในสถานการณ์เกิดโรคระบาดนี้ตามการบอกเล่าจาก “ครู ผู้ปกครอง” ทำให้มีความตระหนักในการป้องกันอย่างดีระดับหนึ่งอยู่แล้วด้วยซ้ำ
ตอกย้ำว่า…“การระบาดโควิด-19” มีผู้ติดเชื้อกระจายอยู่หลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ตัวเลขการผู้ติดเชื้อขึ้นลงอยู่ทุกวัน ด้วยเหตุนี้ “การเปิดโรงเรียน” ย่อมมีความเสี่ยงโอกาสเกิดการระบาดในโรงเรียนได้เสมอ ดังนั้นสถานศึกษาต้องพยายามลดความเสี่ยง ด้วยการเฝ้าระวังเข้มงวดเต็มที่ เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด

เริ่มจาก “บังคับตรวจนักเรียน” ปฏิบัติตนสวมใส่หน้ากากอย่างเข้มงวด มีการล้างมือทุกๆ 1 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ปฏิบัติค่อนข้างยาก คือ “การเว้นระยะห่าง” เพราะ “นักเรียน” ชอบเล่นกันตามวัย และ “ครู” ก็ไม่สามารถควบคุมได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
สุดท้ายเมื่อ “เปิดโรงเรียน” มาแล้วคงทำได้ทางเดียว คือ “นักเรียนดูแลตัวเอง” ทั้งใส่หน้ากาก ล้างมือ และ “ครู” ต้องสอนวิธีเว้นระยะห่างด้วย เพราะจะ “ตลกมาก” อยู่นอกโรงเรียนเว้นระยะ แต่เข้ามาในโรงเรียนไม่ต้องเว้นระยะ ดังนั้น “มาตรการรัฐบาล” แนะนำต้องทำเคร่งครัด ส่วนทำได้แบบใด “โรงเรียน” ต้องบริหารให้ดีเท่านั้น
ประเด็นข้อเสนอ…“มาตรการเรียนแบบแบ่งกลุ่มเฉพาะ” เช่น ห้องเรียนมี 30 คน ก็ต้องอยู่กันเฉพาะจำนวนนี้ที่จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวสัมผัสกลุ่มอื่นในโรงเรียนเด็ดขาด ถ้าเกิดการติดเชื้อจะไม่แพร่กระจายไปในกลุ่มอื่น แต่ว่า “ผู้ปกครอง” อาจต้องยอมรับความเสี่ยงของการรวมกัน เพราะไม่มีใครรู้ว่า พื้นที่ใดเสี่ยงเกิดการระบาดขึ้นได้เลย
ยกตัวอย่าง ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย “สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ” กำหนดเปิดเรียนในวันที่ 12 ก.พ. มีการแบ่งกลุ่มชั้นเรียน 12-15 คน ในช่วงนี้เชิญ “ผู้ปกครอง” มาทำความเข้าใจชี้แจงการเรียนแบบนี้ที่ต้องยอมรับความเสี่ยงจากการรวมกลุ่มกันได้ และมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูล “ความเสี่ยงติดเชื้อ” เช่น เด็กไปจุดเสี่ยงสูงควรหยุดเรียนกักตัว 14 วัน
ถ้าโชคร้าย “ติดเชื้อในกลุ่มนี้” ผู้ปกครองต้องยอมรับความจริงได้ห้ามโกรธแค้นต่อว่ากล่าวโทษเป็นความผิดผู้อื่น เพราะสมัครใจมาอยู่ร่วมกัน ลักษณะเป็นสมาชิกครอบครัวในสถานการณ์ที่ยังมีโรคระบาดเกิดขึ้นนี้แล้ว
ส่วน “กิจกรรมนอกห้องเรียน” ยังดำเนินการตามปกติ ที่ต้องถูกบังคับไม่ให้ไปสัมผัสนักเรียนกลุ่มอื่น เมื่อเลิกเรียนก็ปล่อยกลับบ้าน สิ่งที่สถาบันฯ ทำกันอีกประการสำคัญ คือ การเฝ้าระวังเข้มข้นสูงสุด “สุ่มตรวจคัดกรองหาผู้ติดโควิด-19” ในกลุ่มนักเรียนเชิงรุกด้วยการแยงจมูกเดือนละครั้ง เพื่อเป็นการตรวจสอบระบบการป้องกัน

จริงๆแล้ว…“เปิดเรียน” ต้องขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ หากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ำแล้วสถานประกอบการได้เปิดบริการ มีผู้คนออกรวมกลุ่มชุมนุมกันทั่วไปเช่นนี้ก็ไม่มีเหตุผลโรงเรียนต้องปิดต่อไป ยกเว้นหากทุกแห่งยังอยู่ระหว่าง “ปิดบริการ” แต่โรงเรียนขอเปิดแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องดี เพราะ “โรงเรียน” ก็ถือเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เมื่อ “ผู้ปกครอง” ยินยอมให้บุตรหลานไปโรงเรียนอยู่รวมกันกับคนอื่น ก็ย่อมต้องรับความเสี่ยงได้เช่นกัน แม้ว่า “โอกาสติดเชื้อจะน้อย” ก็ไม่ใช่ว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมี “ตัวเลขเด็กไทยติดเชื้อโควิด-19” เกิดอยู่เสมอ ในทางกลับกัน “เด็กติดเชื้อมักไม่แสดงอาการนี้” ถ้ามีโอกาสไปโรงเรียนแล้วอะไรจะเกิดขึ้น
เรื่องนี้มองว่า “ลักษณะมารวมกันในโรงเรียน” อาจต้องมีระบบสุ่มตรวจเช็กระบบมาตรการป้องกันในโรงเรียนเดือนละครั้งด้วยซ้ำ เสมือน “โรงงาน” ต้องสุ่มตรวจหาการติดเชื้ออยู่เป็นระยะ ในส่วนนี้ “รัฐบาล” อาจต้องออกค่าใช้จ่ายให้กับโรงเรียนได้ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีมาก เพื่อสร้างความมั่นใจว่า “โรงเรียน” มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง
มิเช่นนั้น “การรวมกัน” ในโรงเรียนแบบนี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะเป็นพื้นที่ที่เกิดการระบาดโควิด-19 ได้ยาก ดังนั้น “ผู้ปกครอง” อาจต้องเผื่อใจไว้ด้วยก็ดี.
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์