(12 มีนาคม2557) งานประชุมวิชาการ ปัญหาใหญ่ สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย

1669823_660902173957993_20967728_o

“การบาดเจ็บสมองของเด็กชกมวยไทย”

12 มีนาคม 2557

เริ่มต้นความน่าสนใจด้วยการแสดงศิลปะมวยไทย โดยนักมวยเด็กจากค่ายลานหิมะทองคำ ด.ญ.พรทิพย์ กิจจา และ ด.ญ.นิรุชา สุภาคนธ์  โดยมี จ.ส.อ.ปะวุฒิ นาคมกิจ เป็นครูผู้ฝึกสอน

รศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ และ อ.ดร.นพ.วิทยา สังข์รัตน์ ภาควิชารังสีวิทยา และศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

งานวิจัยการบาดเจ็บสมองของเด็กชกมวยไทยด้วยเทคโนโยลีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging -MRI) ที่ทันสมัย ถือเป็นงานวิจัยสมองของเด็กชกมวยไทยชิ้นแรกของประเทศไทยและระดับโลก

มวยไทยเป็นกีฬาประจำชาติไทยและมีชื่อเสียงไกลทั่วโลก ข้อมูลการขึ้นทะเบียนนักกีฬามวยของสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยปี 2550 พบว่าเด็กไทยเริ่มชกมวยตั้งแต่อายุ 4-16 ปี (อายุเฉลี่ยต่ำกว่า 15 ปี) นักมวยที่อายุน้อยกว่า 15 ปีมีจำนวนถึง 929 คน (ชาย 851 คน /หญิง 78 คน) แต่ตัวเลขนักมวยเด็กอายุ 3-16 ปีที่ไม่ได้ลงทะเบียนน่าจะมีมากกว่าแสนคน

เด็กเริ่มฝึกมวยตั้งแต่ 2ปี และเมื่ออายุ 4-5ปีก็เริ่มขึ้นชกจริง มวยไทยมีประโยชน์ต่อเด็กเช่น ออกกำลังกาย ใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์ ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด เสริมทักษะป้องกันตัว รักษาศิลปะวัฒนธรรมไทย สามารถชกเป็นอาชีพหารายได้ช่วยครอบครัว แต่ในทางตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรังเพราะมวยไทยมีการออกอาวุธ เช่น เข่า ศอก หมัด และมักมุ่งเป้าไปที่ศีรษะด้วยความเร็วและแรงบ่อยครั้ง อาจส่งผลให้เด็กตัวเตี้ยแคระแกร็นกว่าเด็กปกติ หากกระดูก

ใบหน้าแตกหักจะทำให้หยุดการพัฒนาการ โดยเฉพาะการแตกช้ำซ้ำรอยเดิมจะทำให้โครงสร้างบิดเบี้ยวจากคนทั่วไป หากนักมวยเด็กได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะจะส่งผลโดยตรงต่อสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองฉีกขาด เลือดคั่งในสมอง หมดสติ อัมพาตเฉียบพลัน ภาวะเคลื่อนไหวช้า ความจำเสื่อม หรือสมองเสื่อมในช่วงวัยกลางคน และอาจทำให้เกิดโรคลมชักได้ อีกทั้งสมองมีโอกาสหยุดพัฒนาซึ่งเท่ากับไม่มีการเติบโต ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคมในระยะยาว

ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ทำงานวิจัยเรื่องการบาดเจ็บสมองในนักมวยเด็ก รวมถึงการตรวจเลือดและทดสอบทางจิตวิทยา โดยเริ่มจากเฝ้าติดตามนักมวยเด็ก 11คน(อายุ 8-12ปี) เพื่อศึกษาการทำงานสมองโดยเฉพาะสมองส่วนจัดเก็บความจำ (ฮิปโปแคมปัส Hippocampus) การสร้างเซลล์ใยสมอง การทำงานของเส้นใยประสาท โดยวิจัยเปรียบเทียบกับเด็กปกติ 200รายที่ไม่ได้ชกมวย (แต่มีเศรษฐานะและสิ่งแวดล้อมการใช้ชีวิตใกล้เคียงกับเด็กที่ชกมวย) พบว่ามีนักมวย 1 รายที่โพรงน้ำในสมองผิดปกติ นักมวยเด็กมีความจำลดลง ไอคิวต่ำกว่า แต่ในทางตรงกันข้ามกลับพบว่าเด็กชกมวยมีทักษะการตอบสนอง (Motor functional) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทีไม่ต้องผ่านการสั่งการจากสมองมากนัก ถือดีกว่าเด็กปกติทั่วไป

ทั้งนี้กำลังอยู่ระหว่างทำวิจัยสมองต่อเนื่องในกลุ่มเด็กนักมวย 300ราย (ปี 2557-2559)

โดยวิธีการเดียวกัน เพื่อใช้ข้อมูลความผิดปกติทางสมองที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักมวยเด็กเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา พ.ร.บ.คุ้มครองนักมวยเด็ก  พ.ร.บ.การกีฬา  พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก2546  ช่วยกันคิดค้นวิธีการที่จะทำให้เด็กชกมวยได้อย่างปลอดภัย รวมถึงจัดการปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กชกมวย เช่น การพนัน เพื่อส่งเสริมให้มวยไทยสามารถเติบโตเข้าสู่มาตรฐานสากล และพัฒนาเป็นกีฬาระดับประเทศและระดับนานาชาติดังเช่นกีฬาอื่นๆ เช่น เทควันโด  โดยเชื่อว่าผลการวิจัยที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมวงการมวยไทย มีข้อมูลทางการแพทย์ที่แน่ชัดที่สามารถใช้เพื่อยืนยันถึงผลกระทบของกีฬาชนิดนี้ ไม่ใช่เพื่อคัดค้านการชกมวยไทย หากแต่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะปกป้องและวางแผนการดูแลนักมวยเด็กให้มีความปลอดภัยและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

พันเอกบุญส่ง เกิดมณี  (อุปนายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย-สมท.)

1262945_660902920624585_1139484012_o

เห็นด้วยและสนับสนุนงานวิจัยสมองนักมวยเด็ก ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็กชกมวยไทย และอยากให้พิจารณาหาข้อสรุปถึงประเด็นห้ามไม่ให้เด็กชกมวยเป็นอาชีพเพื่อหารายได้ว่ามีเด็กนักมวยจำนวนมากที่ครอบครัวยากจนและไม่มีค่าเล่าเรียนว่าการชกมวยหารายได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กในครอบครัวยากจนเหล่านี้ รวมถึงอยากให้ช่วยกันพิจารณา พ.ร.บ.กีฬามวยเรื่องอายุขั้นต่ำของเด็กที่ขึ้นชกมวยได้ นอกจากนี้เห็นว่าการพนันมวยเป็นสิ่งที่ห้ามยาก

ความเห็นจากผู้ฟัง ผู้เข้าประชุมได้แสดงความคิดเห็นต่อมวยเด็ก เช่น ไม่อยากให้มวยเด็กเป็นอาชีพ เพราะอาจนำมาซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก เช่น ใช้แรงงานเด็ก การพนัน ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546  อยากให้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนมวยไทย เช่น เปิดโรงเรียนสอน มีหลักสูตรเฉพาะ เฉกเช่นเดียวกับกีฬายอดฮิตอื่นๆ เช่น เทควันโด ยูโด ฯลฯ

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า(ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี(ผู้วิจัยหลัก) เห็นสมควรให้มีการส่งเสริมอนุรักษ์กีฬามวยไทยต่อไป มีการเรียนการสอนเรื่องมวยไทยอย่างจริงจัง เช่น เปิดโรงเรียน เปิดหลักสูตร การชกมวยไทยต้องไม่มีเรื่องพนันหาผลประโยชน์จากเด็ก และมีกติกาที่ส่งเสริมความปลอดภัยของเด็กชกมวยให้มากขึ้น  และจะจัดเวทีหาข้อสรุปต่อไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2557

1614175_660903050624572_543654169_o

“ลดการตายของเด็กจากการจมน้ำ ลงร้อยละ 50 ใน 5 ปีต่อจากนี้”

คุณชฎาพร สุขสิริวรรณ (พยาบาล นักวิจัยศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก)

เปิดประเด็นสถานการณ์จมน้ำในเด็กไทยว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา..จมน้ำครองแชมป์เหตุนำการตายในเด็กมาโดยตลอด โดยใน 11ปีที่ผ่านมา (ปี 2545-2556) มีเด็กจมน้ำตาย 14,789 ราย และพบว่าแนวโน้มการตายลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มเด็กเล็กวัยเตาะแตะและอนุบาลอายุ 1-4 ปี (อัตราตาย17.6 คน ต่อ 100,000 คน) โดยการตายลดลงจาก 637 คนในปี 2545 เหลือ 295 คนในปี 2556 (ลดลงถึง 41%) ซึ่งการตายของเด็กวัยนี้มักจะเป็นจมน้ำตายในบ้านในขณะผู้ดูแลอยู่ใกล้เด็กแต่เผอเรอชั่วขณะ การสื่อความรู้ทั้งโดยตรงและผ่านสื่อสาธารณะทำให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กรับรู้และจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านรอบบ้านได้ทันที รวมทั้งทำให้มีความตั้งใจระมัดระวังในการดูแลเด็กเล็กใกล้ชิดมากขึ้น

ส่วนเด็กวัยเรียนระดับประถมอายุ 5-9 ปี (อัตราการตายอยู่ที่ 12.6 คน ต่อ 100,000 คน) การตายได้ ลดลงจาก 664 คนในปี 2545 เหลือ 553 คนในปี 2556 (ลดลงเพียง12%) เห็นได้ว่าแนวโน้มการตายลดลงอย่างเชื่องช้า ซึ่งเด็กวัยนี้มักตายในแหล่งน้ำไกลบ้าน และส่วนใหญ่ยังคงเป็นแหล่งน้ำในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่หรือเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน พ่อแม่ไม่ได้เฝ้าดูใกล้ชิดเพราะเป็นวัยเริ่มวิ่งเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน ผู้ดูแลมักคิดว่าเด็กวัยนี้จะต้องรู้ความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงภัยได้ด้วยตนเอง  ส่วนในกลุ่มเด็กโตอายุ 10-14ปี อัตราตายอยู่ที่ 5.2 คนต่อ 100,000คน การตายลดลงอย่างเชื่องช้าเช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่า ในเดือนเมษายน (ปิดเทอม) มีเด็กจมน้ำตายมากที่สุดในรอบปี รวมถึงปิดเทอมช่วงเดือนตุลาคมอีกด้วย ซึ่งเสนอว่าการสอนทักษะว่ายน้ำและทักษะการเอาชีวิตรอดให้แก่เด็กวัยประถมเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่ง 5 ทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำได้แก่ เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการจมน้ำ ลอยตัวในน้ำได้นาน 3 นาที ว่ายน้ำเคลื่อนที่ในน้ำได้ไกล 15 เมตร ช่วยคนอื่นด้วยการตะโกนโยนยื่น ใช้เสื้อชูชีพทุกครั้งเมื่อเดินทางทางน้ำ รวมถึงต้องฝึกอบรมพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู ชุมชนให้มีทักษะทั้ง 5 ด้วย

นพ.ประวิ อ่ำพันธุ์ (นายแพทย์สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ) เด็กจมน้ำเป็นปัญหาหลักและมีอัตราการตายสูง เสนอให้กุมารแพทย์/พยาบาลมีบทบาทด้านให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในคลินิก Well baby ลงพื้นที่ให้ความรู้ชุมชน และสามารถเก็บข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลเด็กจมน้ำในพื้นที่ที่โรงพยาบาลรับผิดชอบได้

นายแสงไทย มีสุนทร (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ) 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีระเบียบการดูแลเด็กไม่ให้จมน้ำในโรงเรียน มีหลายภาคส่วนที่เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้แก่เด็กและมีทักษะทางน้ำ อีกทั้ง สพฐ.มีนโยบายจัดสรรงบประมาณสอนนักเรียนว่ายน้ำและทักษะช่วยชีวิตไปยังโรงเรียนในสังกัด (พื้นที่ละ 1แสนบาท) อยู่ระหว่างดำเนินการ และอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน

คุณสุชาดา เกิดมงคลการ (นักวิชาการ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) เปิดเผยการสำรวจข้อมูลพบว่าเด็กไทยว่ายน้ำเป็นแค่เพียง 23.7% และในกลุ่มเด็กอายุ 5-9ปีที่มีสถิติตายจากการจมน้ำลดลงอย่างเชื่องช้าและมีจำนวนถึง 33% ของประชากรเด็กอายุต่ำกว่า15ปีทั้งหมดของประเทศ ซึ่งต้องเร่งรีบช่วยกันแก้ปัญหาในเด็กกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าภาคอีสานครองแชมป์พื้นที่เด็กจมน้ำตายมากที่สุด รองลงมาคือภาคกลาง ภาคใต้ตามลำดับ

กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมวัคซีนป้องกันการจมน้ำ ตั้งเป้าจากนี้จนถึงปี 2561 สถิติเด็กจมน้ำตายต้องลดลงเหลือ 38รายต่อปี ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

คุณสลักจิต สกุลรักษ์ (นักวิชาการสำนักงานสาธารณสุข จ.สุรินทร์) 

จ.สุรินทร์ครองแชมป์จังหวัดที่มีเด็กจมน้ำตายสูงสุดในภาคอีสาน! และได้ถูกคัดเลือกจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กจมน้ำ และประสบความสำเร็จจากความตั้งใจจริงและความร่วมมือช่วยเหลือจากเครือข่าย เช่น โรงเรียน อบจ. อบต. ฯลฯ  ซึ่งกลยุทธ์นำไปสู่ความสำเร็จยั่งยืน อาทิ มีแกนนำทำงาน การมีส่วนร่วม การบริหารจัดการโครงการที่ดี ตรวจสุขภาพคัดกรองเด็ก อบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น การสร้างกระแส ขยายผล    

ความเห็นจากผู้ฟัง

กุมารแพทย์: เสนอให้ชักชวนผู้ปกครองมาร่วมมือกับโรงเรียนในการสอนเด็กว่ายน้ำเป็นและทักษะการช่วยเหลือ เพราะเชื่อว่าผู้ปกครองรักลูกและเต็มใจให้ความร่วมมือแน่นอน

สมาคมผู้ฝึกสอนว่ายน้ำ: เห็นว่าการลอยตัวได้ 3 นาทีอาจไม่ช่วยชีวิตได้เต็มที่เพราะน้ำไม่นิ่งพอ น้ำเข้าปากเด็กสำลักจนตกใจลนลาน เสนอว่าควรเน้นสอนพยุงตัวในน้ำ (ท่าลูกหมา) ว่ายน้ำให้เป็นจะดีที่สุด

คณะพลศึกษา มศว.: Life saving ในหลักสูตรการสอนพลศึกษาไม่ค่อยมีผู้สนใจเรียน และมีผู้สอนจำนวนน้อยมาก แต่คณะพลศึกษา มศว.ยินดีนำไปขยายผลกับชุมชนในละแวกมหาวิทยาลัย

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย คุณชฎาพร สุขสิริวรรณ กล่าวว่า กุมารแพทย์/พยาบาลสามารถดำเนินการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเด็กจมน้ำและคืนข้อมูลแก่พื้นที่เพื่อไปขยายผลต่อ จัดอบรมสาธิตการช่วยเหลือคนจมน้ำ ปฐมพยาบาล และจัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำติดตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ส่งเสริมการสอนทักษะการว่ายน้ำและเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ ส่งเสริมใช้เสื้อชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำ        

Untitlu album: ปัญหาใหญ่ สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย.

พุธที่ 12 มีนาคม2557ในงานประชุมวิชาการปัญหาใหญ่ สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย- การบาดเจ็บสมองของเด็กชกมวยไทย-ลดการตายของ…

Posted by ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี on Wednesday, March 12, 2014

 

 

 

 

 

 

 

 

(11 มีนาคม2557) งานประชุมวิชาการ ปัญหาใหญ่ สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย

10006072_660491233999087_2036810875_o

“ บุหรี่ กับ เด็กไทย..
ก้าวต่อไปในการคุ้มครองเด็ก โดยแพทย์และพยาบาล”

11 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดงานประชุมวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ เรื่อง ปัญหาใหญ่สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย // ในประเด็น “บุหรี่ กับ เด็กไทย..ก้าวต่อไปในการคุ้มครองเด็ก โดยแพทย์และพยาบาล”

-ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ (เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่) กล่าวถึง ปัญหาบุหรี่กับเด็ก และผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม กับประเด็นการต่อสู้ที่ผ่านมา ว่า ทั่วโลกมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1,300 ล้านคน ถ้าแนวโน้มของการสูบบุหรี่ยังคงเดิม คาดหมายว่าจะมีผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี สำหรับข้อมูลเด็กและเยาวชนพบว่า ทั่วโลกมีกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10 – 24 ปีสูบบุหรี่ประมาณ 1.8 พันล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 85 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ในแต่ละวันมีเยาวชนติดบุหรี่ใหม่ 82,000–99,000 คนทั่วโลก เยาวชนที่ติดบุหรี่ส่วนใหญ่จะเริ่มสูบก่อนอายุ 18 ปี 1ใน4 เริ่มทดลองสูบก่อนอายุ10ปี ยิ่งทดลองสูบเมื่ออายุน้อยก็ยิ่งมีโอกาสติดมากและเลิกยาก”

ในประเทศไทยสถานการณ์ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นน่าเป็นห่วง เด็กและวัยรุ่นกลายเป็นผู้สูบมากขึ้น สาเหตุมาจากค่านิยมของการสูบบุหรี่ในสังคมและกลุ่มเพื่อน การเข้าถึงสินค้าบุหรี่ได้ง่าย การตลาดของบริษัทบุหรี่ และที่สำคัญคือการสูบบุหรี่ของพ่อแม่

หากคนในครอบครัวสูบบุหรี่ในบ้านที่มีเด็ก เด็กจะได้รับควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง) ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ปอดพัฒนาไม่เต็มที่ มีโอกาสเป็นมะเร็งได้หลายชนิดทั้งมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ รศ.นพ.ชลีรัตน์ ดิเรกวัฒฬนชัย (อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)กล่าวว่า เด็ก ป.3 ก็เริ่มเป็นผู้สูบ และเกือบทั้งหมดไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ การศึกษาวิจัยเรื่องสมรรถภาพของปอดเด็กที่สูบบุหรี่พบว่ามีสมรรถภาพทางปอดต่ำกว่าคนปกติมาก ศ.คลินิก พญ.มุกดา หวังวีรวเพิ่มเติมว่ายังทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจซ้ำๆ หูชั้นกลางอักเสบง่ายและมีโอกาสติดเชื้อลุกลามถึงเยื่อหุ้มสมอง ที่สำคัญคือพบภาวะทารกไหลตายในบ้านที่ผู้ใหญ่สูบบุหรี่ และรศ นิตยา คชภกดี ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กกล่าวว่ามีงานวิจัยชัดเจนว่ามารดาตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่หรือเป็นควันบุหรี่มือสองมีโอกาสที่ทารกคลอดออกมาแล้วกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น

การที่เด็กได้รับควันบุหรี่ในบ้าน ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้สูบเอง แต่ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสกลายเป็นผู้สูบเสียเองจนติดบุหรี่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า พฤติกรรมการเป็นผู้สูบบุหรี่ของเด็กก็จะเป็นพฤติกรรมนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืน ใช้ความรุนแรง ใช้ยาเสพติดอื่นๆ ฯลฯ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กล่าวว่า มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเครือข่ายได้ร่วมต่อสู้เรื่องบุหรี่มายาวนาน เกิดการเปลี่ยนแปลง มาตรการห้ามโฆษณาบุหรี่ มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ พื้นที่เขตปลอดบุหรี่ หรือแม้กระทั่งการขึ้นภาษีเหล้าและบุหรี่ แต่รายได้ของการจำหน่ายบุหรี่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ลดลงอย่างที่คาดไว้ (ปี 2556 เก็บภาษีเพิ่มเป็น86% แต่ธุรกิจบุหรี่กลับมีรายได้ถึง 67,863ล้านบาท) ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทบุหรี่มีการวางแผนการตลาดด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อดึงดูดเด็กวัยรุ่น เช่น ปรุงแต่งกลิ่นรสให้ไม่ระคายคอเพื่อให้เด็กทดลองสูบง่าย, ออกแบบตัวสินค้าและซองบุหรี่น่าสนใจ,ปรุงแต่งบุหรี่ให้มีรสผลไม้/รสขนมเพื่อให้เด็กๆ เข้าใจว่าเป็นบุหรี่ปลอดภัย ประธานบริษัทที่ผลิตบุหรี่ยี่ห้อดังๆกล่าวว่า “ถ้าบริษัทบุหรี่หยุดทำการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่วัยรุ่น บริษัทจะต้องเลิกกิจการในเวลา 25 ถึง 30 ปี เพราะจะไม่มีลูกค้าพอที่บริษัทจะอยู่ได้”
ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าลดจำนวนผู้สูบลงจาก 21.4% เป็น 15% ให้ได้ในปี 2568 และกำลังผลักดันร่างกำหนดอายุผู้ซื้อบุหรี่จาก 18ปี เพิ่มเป็น 20ปี แต่อุปสรรคสำคัญของการรณรงค์บุหรี่ในไทย คือ อิทธิพลบริษัทบุหรี่และรัฐบาลที่ยังคงไม่เลิกเป็นผู้ผลิตรายใหญ่

1960884_660493143998896_1132966587_o

“สารตะกั่ว กับ เด็ก !!!”

11 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดงานประชุมวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ เรื่อง ปัญหาใหญ่สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย // ในประเด็น “สารตะกั่ว กับ เด็ก !!!”

-รศ.พญ.จุฬธิดา โฉมฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาของราขวิทยาลัยกุมารแพทย์กล่าวว่า ตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายเด็กได้จากการสัมผัสในรูปแบบต่างๆ เช่น การสูดดมไอของตะกั่วที่เกิดจากการเผาหรือหลอมละลาย การหายใจเอาเศษผงหรือฝุ่นตะกั่วที่มีขนาดเล็ก การรับประทานสิ่งของที่มีตะกั่วปนเปื้อน และหากได้รับปริมาณมากจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กรุนแรง ถ้าได้น้อยๆก็จะสะสมเกิดปัญหาสุขภาพแบบเรื้อรัง โดยตะกั่วที่เข้าสู่ร่างกายจะไปสะสมในกระดูกและกระจายเข้าสมองได้ หากมีตะกั่วเข้าไปสะสมปริมาณมากเกินกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จะทำให้ไอคิวลดลง พัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย ฯลฯ การแก้ไขปลายเหตุ เช่น ให้ยาขับตะกั่ว ไม่สามารถทำให้ไอคิวและสมรรถภาพด้านต่างๆ ที่เสียไปกลับมาเป็นปกติได้ การป้องกันไม่ให้ตะกั่วเข้าร่างกายเด็กเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตน์พฤกษ์ (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) กล่าวถึง สถานการณ์ปัญหาโรคพิษตะกั่วในประเทศไทย เด็กอายุ 0-4 ปีได้รับผลกระทบมากที่สุด พบว่าต้นเหตุสำคัญของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กมาจากสีทาบ้าน โดยเฉพาะสีน้ำมัน ไม่ว่าจะเอามาทาบ้าน เครื่องเล่นสนาม ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โรงงานหลอมตะกั่ว โรงงานแบตเตอรี โรงงานรีไซเคิล เด็กที่อยู่ในชุมชนใกล้อู่ต่อเรือ ครัวเรือนที่ทำถ้วยชามเบญจรงค์ นอกจากนั้นยังพบในถังน้ำดื่มและหม้อต้มก๋วยเตี๋ยว แทงค์น้ำที่เอาตะกั่วมาอุดรูรั่ว เอามาซ่อมแซม น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง (มูลนิธิบูรณะนิเวศ) ได้ทำการวิจัยสีน้ำมันในตลาดบ้านเรา 128 ตัวอย่างพบว่าสีสดร้อยละ 79 มีค่าสารตะกั่วในสีสูงกว่ามาตรฐานสากลกว่าร้อยเท่าตัว (มากกว่า 10000 ppm) และข้างกระป๋องสีไม่ได้ระบุไว้ว่ามีตะกั่ว รวมทั้งไม่ได้มีคำเตือนว่าห้ามใช้ทาอาคารภายในด้วย

พญ.นัยนา ณีศะนันท์ กล่าวว่าราชวิทยาลัยกุมารแพทย์เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขทำการเฝ้าระวังคัดกรองสำรวจกลุ่มเด็กเสี่ยงตามช่วงอายุและปัจจัยเสี่ยง กลุ่มเด็กที่เสี่ยงที่สุดคือ 6 เดือนถึง 2 ปี อยู่ในที่อยู่อาศัยในเขตอุตสาหกรรม อาศัยอยู่ในบ้านที่ผู้ปกครองทำอาชีพเกี่ยวข้องสารตะกั่ว รวมทั้งเด็กที่อาศัยในบ้านเรือนที่ทาด้วยสีน้ำมันและสีมีลักษณะหลุดลอก

อ.ชาญณรงค์ ไวยพจน์ (วสท.-วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) กล่าวว่า กล่าวว่าขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมประกาศควบคุมมาตรฐานสารตะกั่วในสีน้ำมันให้ต่ำกว่า 100 ppmเท่ากับมาตรฐานสากลแล้ว ฉบับร่างทำเสร็จแล้วกำลังเวียนสมาชิกเครือข่ายระหว่างประเทศให้รับทราบว่าประเทศไทยกำลังจะบังคับมาตรฐานสี แต่หลังประกาศคงต้องมีมาตรการจัดการกับสีที่ยังอยู่ในตลาด รวมทั้งบ้านเรือนที่เด็กอยู่อาศัยแล้วตรวจพบว่ามีสีที่มีสารตะกั่วสูง การลอกสี ทาใหม่ต้องมีเทคนิคที่ถูกต้อง ทำโดยช่างที่ผ่านการอบรมเพื่อไม่ให้สารตะกั่วฟุ้งกระจายในชุมชน รวมทั้งฝุ่นสีไม่สะสมในซอก ใต้ฝ้า หรือที่อื่นๆในบ้านทำให้ทาสีใหม่แล้วฝุ่นผงตะกั่วยังอยู่เต็มบ้าน รวมทั้งไม่ให้ช่างเองต้องได้รับอันตรายจากการขูดลอกสีด้วย การตรวจสิ่งแวดล้อมในบ้านเพื่อหาสารตะกั่วในสีทาบ้านรวมทั้งการอบรมเฉพาะทางให้กับช่างสีเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกำจัดสารตะกั่วในสีนี้ทางวิศวกรรมสถานจะได้หารือกันเพื่อรองรับมาตรการการตรวจคัดกรองเลือดเด็กเพื่อหาสารตะกั่วของกระทรวงสาธารณสุขต่อไ

อ.ดร.ดวงฤทัย บัวด้วง (โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี) กล่าวว่า เบื้องต้นครอบครัวที่มีภาวะเสี่ยงต้องดูแลตนเองให้ถูกวิธี สอนลูกให้ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนหยิบของกินใส่ปาก ทำความสะอาดพื้นบ้านด้วยผ้าชุบน้ำเช็ด ไม่ปัดกวาดเพราะจะทำให้ผงสี หรือฝุ่นผงสารตะกั่วกระจาย

Untitlu  album: ปัญหาใหญ่ สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย

“ บุหรี่ กับ เด็กไทย..ก้าวต่อไปในการคุ้มครองเด็ก โดยแพทย์และพยาบาล”11 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่าราชวิท…

Posted by ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี on Tuesday, March 11, 2014

 

 

(10 มีนาคม 2557) งานประชุมวิชาการ “ปัญหาใหญ่สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย”

10015038_660086180706259_294820811_o

ปัญหาใหญ่ สุขภาพเด็กไทย ที่ถูกละเลย

“เด็กไทย กับ ไอที
หยุด..ทำลายสมองเด็กด้วย ไอที !!!”

10 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดงานประชุมวิชาการ เรื่อง ปัญหาใหญ่สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย // ในประเด็น “ เด็กไทย กับ ไอที !!! ”

รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี กุมารแพทย์ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กของโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีรุดหน้าไปเร็ว มีทั้งผลดีและไม่ดี โดยเฉพาะกับเด็ก เช่น เฟสบุค ไลน์ เกมส์ พบว่าเด็กใช้มาก ใช้ฟุ่มเฟือย เด็กเข้าถึงง่าย จนก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เกิดภาวะเสพติดการใช้จนมีผลเสียต่อพัฒนาการ การเรียน และสุขภาพ social media เหล่านี้ยังเป็นช่องทางก่อให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่อลวง หรือเด็กเองทะเลาะกันระหว่างกลุ่มจากความไม่พอใจที่ต่อว่ากันทางsocial media นำไปสู่การยกพวกตบตีล้างแค้นกัน ฯลฯ
การเสพติดเกม ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญและเป็นปัญหาทีเด็กทั่วโลกเผชิญ จากผลวิจัยพบว่า เด็กที่ติดเกมจะมีภาวะจิตใจพึ่งพิง มีความสุขกับการเล่นจนไม่อยากเลิก ต้องการเล่นมากขึ้น ไม่สนใจกิจวัตรประจำวันเช่นอดกิน อดนอน จนเสียสุขภาพ และจะโกรธ ก้าวร้าว เกมเหล่านี้ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญหลายด้านให้ผู้เล่นอยากเล่น มีลูกเล่นมากมายให้ผู้เล่นติดพัน นอกจากนั้นบางเกมเนื้อหายังก่อให้เกิดความหมกมุ่นในความรุนแรง เพศ ผลการตรวจ functional MRI ของสมองเด็กติดเกมพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองมีการเชื่อมโยงลดลง ความจำลดลง ไอคิวลดลง ฯลฯ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ใช้สื่อหน้าจอทุกชนิดเลยไม่ว่าจะเป็นทีวี คอมพิวเตอร์ เด็ก 3 ปีขึ้นไปใช้ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน เด็ก 13 ปีถึงควรใช้ social media อย่างไรก็ตามพ่อแม่ก็ควรแนะนำการใช้อย่างใกล้ชิด และวางกฎการใช้อย่างปลอดภัยร่วมกันเสียแต่แรกด้วยเช่นการไม่เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรให้คนไม่รู้จักกันผ่านทาง social media

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า ประเทศเกาหลี จีนซึ่งเป็นผู้ออกแบบและขายเกมรายใหญ่ของโลก มีปัญหาเด็กติดเกมอย่างหนัก มีการแก้ปัญหาโดยการตั้งคลินิก ค่าย บำบัดเด็กติดเกม แต่นั่นก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และก็ไม่ง่ายที่จะทำให้สำเร็จ ดังนั้นการป้องกันที่ต้นเหตุน่าจะเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน โดยเน้นมาตรการควบคุมเนื้อหาและควบคุมเวลาการใช้งาน นอกจากเราต้องให้ความรู้ครอบครัวและเด็กในการรู้เท่าทันและป้องกันตนเองจากสื่อร้ายกาจเหล่านี้ เราควรเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ผู้ผลิตเกมต่างๆใช้กลไกการตลาดอย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 13 ปีต้องได้รับการปกป้องไม่ให้เป็นเหยื่อของการตลาด ส่วนเด็กโตต้องช่วยกันเสริมความสามารถในการรู้เท่าทันด้วยตนเอง นอกจากนั้นผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเกม ผู้ผลิตเคริ่องมือสื่อสารต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ในประเทศพัฒนาผู้ผลิตเหล่านี้มีส่วนร่วมจ่ายในการคิดค้น พัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยสำหรับเด็กและครอบครัวทั้งของทีวี โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เช่น ทีวีรุ่นใหม่ใส่ชิพเรียก V-Chip ทำงานร่วมกับการเรทติงรายการต่างๆตามอายุเด็กและใส่โค๊ดตามเรทติงที่ได้ลงไปในสัญญาณการออกอากาศ ในบ้านที่มีเด็ก ผู้ใหญ่จะตั้งรหัสที่ให้เวลาที่เด็กดูทีวีกับครอบครัวเชิพนี้ทำงาน รายการที่ปรากฏก็จะเป็นรายการที่เหมาะสมสำหรับเด็กด้วยเท่านั้น นอกจากนั้นยังมี เครื่องที่เรียกว่า TV GUARDIAN ใช้คัดกรอง ตัดคำพูดหยาบคายออก เครื่อง TV TIMER ใช้จำกัดเวลาของสื่อหน้าจอทุกอย่างในบ้านไม่ว่าจะเป็นทีวี คอมพิวเตอร์ ให้เด็กใช้ได้ไม่เกินเวลาที่เรากำหนดเช่น 1 ถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน ในโทรศพท์มีการพัฒนา child safety mode ในรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็น Samsung หรือ nokia จะมี internet filter คือคัดกรอง เวปไซต์ลามก หยาบคาย เกม หรือ การใช้social media ที่ไม่เหมาะสมตามอายุเด็ก บางค่ายมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ช่วยทำงานดังกล่าว รวมทั้งสามารถควบคุมเวลาการใช้งานของเด็กไม่ให้เกินคำแนะนำการใช้ตามอายุของเด็ก99ได้ด้วย .oFmiLyrmNRating Internet Filter (การใช้เรทติ้งกำหนดอายุเด็กในการชมสื่อ) รวมถึง Application ต่างๆ ในมือถือ เช่น Kid Mode ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยก็มีความพยายามทำในเรื่องเหล่านี้อยู่
ในส่วนการดูแลเด็ก การให้ความรู้ครอบครัว ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์จะเผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางต่างๆต่อไป แต่ในส่วนการสร้างกลไกการตลาดที่มีคุณธรรม การค้าขายที่คำนึงถึงสิทธิความปลอดภัยของเด็กนั้น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์เรียกร้องให้ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงไอซีที เร่งทำเรื่องเรทติงเกม เวปไซท์ รายการทีวี และภาพยนตร์ และหามาตรการให้ผู้ผลิตสร้างเทคโนโลยีต่างๆใส่เข้าไปในเครื่องมือสื่อสาร และใส่ในระบบอินเทอร์เนตให้สอดคล้องกับการเรทติงตามอายุ เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ในการดูแลลูกในครัวเรือน รวมทั้งใช้เทคโนโลยีนี้ในการควบคุมร้านเกม หรือคอมพิวเตอร์ของห้องสมุด ของโรงเรียนต่างๆด้วย และเพื่อให้การตลาดของเครื่องมือสื่อสารเป็นการตลาดที่สะอาด ไม่ค่าขายเอากำไรกับเด็กอย่างไม่มีคุณธรรม นางยุพา ทวีวัฒนธกิจบวร (กระทรวงวัฒนธรรม) กล่าวว่า …. ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้ทำโปรแกรมคัดกรองเกมไม่เหมาะสม สำหรับครัวเรือนเรียกว่า Healthy Gamer พ่อแม่ที่สนใจขอรับได้ที่กระทรวง แต่ยังไม่ได้ใช้โปรแกรมคัดกรองในการควบคุมร้านเกม

Untitlu album: งานประชุมวิชาการ “ปัญหาใหญ่สุขภาพเด็กไทยที่ถูกละเลย”

ปัญหาใหญ่ สุขภาพเด็กไทย ที่ถูกละเลย “เด็กไทย กับ ไอที หยุด..ทำลายสมองเด็กด้วย ไอที !!!”10 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมแม่น…

Posted by ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี on Monday, March 10, 2014