ระวัง ! “วัตถุระเบิด

 

ที่นิยมเอามาเป็น ของเล่น...

 

  บทความโดย   ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์

 

แม้ว่า วัตถุระเบิด ที่ผู้คนนิยมนำมาเป็น ของเล่นได้ก่อให้เกิดหายนะทั้งชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินมา ซึ่งเกิดเป็นข่าวใหญ่มาโดยตลอด แต่ก็หาได้ลดราวาศอกลงไม่ เพราะในทุกวันนี้ มิใช่เฉพาะคืนลอยกระทงเท่านั้น แต่เรียกได้ว่าเล่นกันทุกเทศกาลก็ว่าได้ ทั้งงานวันเกิด งานปีใหม่ งานบวช  งานศพแม้แต่พิธีเปิด-ปิดงานแข่งขันกีฬาหรืองานต่างๆทั้งระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

 

** เด็กชาย 10 ขวบ นิ้วขาดแหลกเละทั้ง 5 นิ้ว เหตุจากเล่นประทัดยักษ์พลาดแตกใส่มือ

(26 ก.ย.56 อุดรธานี)

 

 ** เด็กชาย  10 ขวบ นิ้วกลางขวาขาด  ฝ่ามือ ลำตัวและขาขวาฉีกเหวอะหวะ เหตุพลาดท่า จุดชนวนประทัดยักษ์แล้วโยนไม่ทัน  ( 25 ต.ค.55  -อุบลราชธานี)

 

ไม่ใช่แต่ "ประทัดยักษ์ เท่านั้นหรอกครับ ที่ก่อให้เกิดอันตราย แม้แต่ดอกไม้ไฟ หรือพลุที่พอจุดวาบก็เกิดเป็นแสงสีงดงามอลังการมลังเมลือง แต่ส่วนผสมซึ่งคือสารโลหะทั้งหลายยังกลายเป็นไอระเหยที่เข้าสู่ร่างกายกลายเป็นพิษภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้มากอย่างที่ไม่คาดคิด แล้วมันก็ยังพร้อมที่จะเกิดภัยร้ายไม่แพ้กัน

 

** ระเบิดปิงปอง พลุ และดอกไม้ไฟ เป็นต้นเหตุให้ผู้ร่วมงานคืนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เกิดอาการบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เฉพาะเพียงโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี รับผู้บาดเจ็บในวันเปิดทำงานวันแรก จำนวน 31 ราย ในจำนวนนี้ มีอาการบาดเจ็บสาหัส 9 ราย และ ตาบอด 5 ราย     (2 ม.ค.56-สุราษฎร์ธานี)

 

 

 

      อย่าลืมนะครับว่า บรรดา พลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ ซึ่งมีสารที่ทำให้เกิดสีสันสวยงาม(เช่น กำมะถันให้แสงสีขาว แบเรียมคลอเนตจะให้สีเขียว คอปเปอร์คาร์บอเนตจะให้แสงสีน้ำเงิน)มันยังมีส่วนผสมของดินประสิว (โปแตสเซียมไนเตรท) แอมโมเนียคลอเลต หรือโปแตสเซียมคลอเลต กับเชื้อเพลิง เช่นขี้เลื่อย ,ดินปืน ซึ่งมันก็คือวัตถุระเบิดชนิดหนึ่งที่มี สายชนวนสำหรับจุดอยู่ตรงปลาย  (มี พรบ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ กำหนดให้มีการขออนุญาตในการนำเข้า)

 

 

 

ความรุนแรงอันตรายของพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กๆอย่างแน่นอนครับ     จากสถิติก็พบว่าในรอบยี่สิบปี โรงงานผลิตพลุ-ดอกไม้ไฟระเบิดและไฟไหม้ถึง 18 ครั้ง  เช่น

 

** เหตุการณ์โรงงานผลิตพลุ-ดอกไม้ไฟ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเกิดระเบิดสนั่นหวั่นไหวขณะลำเลียงพลุเตรียมนำส่งให้ลูกค้าในเทศกาลลอยกระทง  ผลก็คือทำให้มีคนตายไปถึง 14 คน   นี่เป็นโรงงานเถื่อนเพราะไม่มีใบอนุญาตใดๆทั้งสิ้น (การจะตั้งโรงงานผลิตดอกไม้เพลิงนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมอุตสาหกรรมทหาร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย) ( 3 ต.ค.46)

 

**  ในขณะที่พ่อค้าขายพลุ กำลังสาธิตวิธีจุดประทัดให้ลูกค้ามือใหม่ดูเป็นขวัญตา แต่เกิดพลั้งมือ ทำให้ประทัดติดไฟฟู่ๆนั้นตกลงไปยังแผงขาย ซึ่งวางดอกไม้ไฟและประทัดอยู่เต็มแผง จึงเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ผลก็คือเสียชีวิต 1 ราย และทำให้ชาวบ้านผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องบาดเจ็บ ถึง 84 ราย  ( ตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร 7 พฤศจิกายน 2543)

 

**  โรงงานพลุประทัดดอกไม้ไฟ ซึ่งดัดแปลงบ้านเป็นโรงงาน ระเบิด ทำให้ เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 7 ราย  (ย่านหนอกจอก17 ตุลาคม 2543)    

 

เด็ก(และผู้ใหญ่)ที่เล่นวัตถุอันตรายเหล่านนี้ โดยมากจะโดนสะเก็ดระเบิดที่มือและข้อมือ  รองลงไปก็ถึงกับกระดูกนิ้วมือแตกละเอียด  มีหลายรายแพทย์ต้องตัดนิ้วหรือตัดมือทิ้ง   หลายรายก็ถูกสะเก็ดพลุดอกไม้ไฟเข้าที่ตาและรอบๆ  ดวงตา  เยื่อตา  และตาดำ  ทำให้ตาบอดก็มีไม่น้อย(ตาดำไหม้  ขุ่นมัว  อาจทำให้เลือดออกช่องหน้าม่านตา  ทำให้ตาบอดถาวรได้ )

 

 

 

จึงอยากจะขอแนะแนวทาง ป้องภัยของเล่นมหันตภัยดังกล่าว ดังนี้ครับ ...

 

1.. เพราะว่าพวกมันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จัดว่าเป็นวัตถุระเบิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบั้งไฟ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ-พลุ หรือแม้แต่เม็ดมะยม ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด ก็คือ ห้ามไม่ให้ลูกๆเล่นอย่างเด็ดขาด 

2. นอกจากห้ามเล่นแล้ว ยังต้องไม่ไปเล่น ไปรวมกลุ่ม หรือไม่แม้แต่เข้าไปอยู่ใกล้คนที่เล่นพลุและดอกไม้ไฟ

จริงๆแล้ว แค่2 ข้อนี้ก็น่าจะเป็นคาถาป้องกันความปลอดภัยให้ลูกได้ แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ในโลกแห่งความเป็นจริง เด็กในหลายๆครอบครัวก็ยังคงเข้าไปในแวดวงกลุ่มคนเล่นพลุอยู่ดี ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจำต้องแนะนำเขาไว้ก่อนเลยว่า 

   3. ให้ระวังบรรดาพลุ ดอกไม้ไฟ หรือประทัดที่จุดแล้วด้าน...แล้วจุดใหม่อีกครั้ง เพราะเราพบว่า การจุดซ้ำอีกมันมักจะระเบิดโป้งได้อย่างคาดไม่ถึง...

4.  ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นก่อนจะจุดพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟ ควรที่จะมองดูรอบข้างให้ดี ต้องมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดอยู่ในบริเวณนั้น โปรดช่วยกันเอาใจใส่ความปลอดภัยของผู้อื่นด้วย โดยเฉพาะเด็กๆ...

   5. หากในบริเวณนั้น มีลมแรง-อยู่ใกล้สายไฟ -สถานีน้ำมัน -ถังแก๊ส -ใกล้ หรือแม้แต่ในอาคารบ้านเรือน อย่าจุดพลุและดอกไม้ไฟอย่างเด็ดขาด  เพราะอาจจะทำให้เกิดระเบิดและไฟไหม้และยากที่จะควบคุมได้

6. เด็กๆหลายคน พอซื้อพลุหรือดอกไม้ไฟมาได้ก็เก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงทันที ซึ่งเป็นการกระทำที่นำภัยมาสู่ตนเองโดยไม่รู้ตัว  เพราะเพียงมันมีการเสียดสีกันซ้ำๆ ก็อาจจะระเบิดโป้งป้างขึ้นได้

7. เพื่อความไม่ประมาททุกครั้งที่จะเล่นพลุ จะต้องเตรียมเครื่องดับเพลิง หรือ เตรียมถังใส่น้ำไว้ให้เต็มปริ่มหรือทรายไว้ใกล้ๆ หากเกิดเพลิงไหม้จะได้สามารถดับทัน

8. ถึงแม้พ่อแม่จะเห็นว่าเด็กโตพอแล้ว จึงอนุญาตให้เขาเล่นพลุ ดอกไม้ไฟได้ แต่ขอแนะนำว่าควรอยู่ในการดูแลอย่างใกลัชิดของผู้ใหญ่  อย่าลืมว่าเด็กโตเป็นวัยแห่งความคะนอง ชอบเล่นเสี่ยง จึงมีโอกาพลาดพลั้งได้สูง

9. บางคนเล่นพิเรนโดยจุดประทัดหรือดอกไม้ไฟแล้ววางบนหัว บนฝ่ามือ หรือร่างกายส่วนต่างๆ บางคน จุดชนวนแล้วบนแก้ว บนกะละมัง...เจอใครมีพฤติกรรมเช่นนี้ควรต้องห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะจะนำอันตรายมาสู่ตนเองและผู้อื่นด้วย

 

 10. บางคนพอจุดชนวนแล้วก็ชอบยื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ ทำเหมือนจะเป่าเทียนบนชนมเค้ก

แต่หากมันตูมตามขึ้นมา ผลที่ได้มันอาจหมายถึงการเสียโฉม หรือแม้แต่ เสียชีวิต....

 

11. เท่าที่เคยสังเกตมา บรรดาคนที่เล่นพลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ เมื่อเล่น จนหนำใจแล้ว ก็มักจะทิ้งเศษซากวัตถุระเบิดเหล่านี้จนเกลื่อนกลาด ทั้งๆที่หลายชิ้นมันยังติดไฟอยู่ ซึ่งเสี่ยงต่อการระเบิดหรือไฟไหม้ เพราะเชื้อไฟมันยังไม่มอดสนิท

 

12. หลังเล่นแล้ว จึงต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการตรวจสอบสถานที่เล่นให้เรียบร้อย เก็บเศษดอกไม้ไฟและดับประกายไฟให้หมด

 

 

** หากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัยต่างๆ  สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไปครับ......

หรือ โทรศัพท์แจ้งหน่วยกู้ชีพนเรนทร  หมายเลข  1669  ฟรีทุกระบบ  ได้ตลอด  24  ชั่วโมง

 

 

  

 

wwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwwww