นักมวยเด็กกับการบาดเจ็บสมอง            

 

เนื่องในโอกาสที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดดำเนินกิจการมาแล้วเป็นเวลา 45 ปี ตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินการได้มีการพัฒนาองค์ความรู้โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในชุมชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี  ตระหนักในความเสี่ยง มีความรู้ความเข้าใจ ยอมรับให้มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และสามารถป้องกันความเสี่ยงนั้นได้ คณะฯ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ในแง่การบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม จึงได้จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2557 ขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2557

ในการนี้ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งใน คณะ ฯ ดำเนินการศึกษาถึงภัยคุกคามที่มีต่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ภัยคุกคามที่มีผลต่อสมองของเด็ก 

เพื่อปกป้องสมองเด็กไทยให้พวกเขาได้เติบโตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ ศูนย์วิจัยฯ จึงกำหนดจัดการประชุมเรื่อง ภัยคุกคามสมองเด็กไทย: จากงานวิจัยสู่นโยบาย ประเด็น “นักมวยเด็กกับการบาดเจ็บสมอง”  ในวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม  2557  เวลา 13.45 - 15.30 น. ณ ห้องประชุม 910 ABC   ชั้น 9  อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี   คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี   ถนนพระราม 6   เขตราชเทวี  กรุงเทพมหานคร 10400   

 'นักมวยเด็ก' สวนหมัดเสี่ยงปัญญาทึบ เส้นยาแดงผ่าแปด ไม่ตายก็พิการ!?

	'นักมวยเด็ก' สวนหมัดเสี่ยงปัญญาทึบ 	เส้นยาแดงผ่าแปด ไม่ตายก็พิการ!?    

 

       เอ่ยถึง "มวยเด็ก" เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้นถึงสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 15 ปีที่ต้องยอมรับว่า เด็กไทยชกมวยตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ ทั้งเวทีท้องถิ่น และเวทีจริง และการชกแต่ละครั้งเหมือนมวยอาชีพของผู้ใหญ่ ไม่มีการป้องกัน แถมชกโดยมีการพนัน และไม่ได้ชกเพื่อความแข็งแรง หรือเพื่อการกีฬา แต่เพื่อให้มีคนมาดู และค่าตัวที่สูงขึ้น
       
        ยิ่งมีหลักฐานงานวิจัยเรื่องการบาดเจ็บสมองของนักมวยเด็กที่พิสูจน์เป็นเชิงประจักษ์แล้วว่า 
ยิ่งชกนานสมองยิ่งบาดเจ็บมาก ทั้งใยประสาท เซลล์ประสาท หรือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการเรียนรู้ รวมไปถึงการตรวจระดับสติปัญญาหรือที่เรียกว่าไอคิว พบว่า กลุ่มนักมวยเด็ก มีระดับไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วๆ ไป
       
       
 วิจัยชี้ชัด "มวยเด็ก" ทำสมองเด็กย่ำแย่
       
        ความน่าเป็นห่วงข้างต้น รศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ทำการวิจัยร่วมมือกับดร.นพ วิทยา สังข์รัตน์ โดยใช้เครื่อง MRI ศึกษาการบาดเจ็บสมองของนักมวยเด็กกลุ่มย่อยเปรียบเทียบกับเด็กปกติทั่วไป ผ่านเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า functional MRI
       
       
 "เราติดตามกลุ่มนักมวยเด็กจำนวนหนึ่งมาหลายปีแล้ว ตามไปตรวจร่างกาย และฮอร์โมนต่อมใต้สมองก็ไม่เจออะไร วันหนึ่ง ตรวจการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กโดยเครื่อง MRI ปรากฏว่า นักมวยเด็กที่ตามอยู่ 10 กว่าคน พบว่ามีความผิดปกติทันที ตั้งแต่มีน้ำคั่งในสมอง แล้วก็มีปริมาณเลือดเก่าๆ ที่เก็บสะสม รวมไปถึงใยสมองที่ผิดปกติ ก็เลยกลับมาทำเป็นเรื่องเป็นราว เพราะปัจจุบันมีเด็กหลายแสนคนที่อยู่ในอาชีพนี้ 
       
        โดยเด็กๆ เหล่านี้ เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักมวยเด็ก ทำการฝึกตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ พออายุ 6-7 ขวบก็เริ่มขึ้นชก คนไหนฝีมือดีก็จะชกถี่หน่อย ชกไปจนถึงอายุ 15 ถ้าฝีมือดีก็จะได้ขึ้นเป็นนักมวยอาชีพ คนที่ฝีมือไม่ดีก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ แต่ช่วงอายุตั้งแต่ 2 ขวบจนถึงอายุ 15 ปี เราไม่มีทางทราบเลยว่า เด็กกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร มีอะไรขึ้นเกิดขึ้นกับร่างกายพวกเขาบ้าง" รศ.พญ.จิรพร สะท้อนให้เห็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง
       
       
 รศ.พญ.จิรพร ให้ข้อมูลต่อไปว่า ประเทศไทยมีการสำรวจอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2007 พบว่า มีนักมวยเด็กอายุเพียง 6-15 ปี ที่ขึ้นทะเบียนกับสังกัดค่ายมวย ในปี 2550 ประมาณ 929 ราย เป็นเพศชาย 851 ราย เพศหญิง 78 ราย แต่ตัวเลขของเด็กที่อยู่บนสังเวียนจริงๆ มีถึง 100,000 คน (ปัจจุบันน่าจะมีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200,000 คน) นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 50 ของจำนวนทั้งหมดมีอาการน็อกจากการชก จนชกต่อไม่ไหว, ร้อยละ 20 น็อกจนหมดสติระหว่างการชก และกว่าร้อยละ 70 มีอาการบาดเจ็บตามร่างกาย เช่น ฟกช้ำดำเขียวไปจนถึงหน้าฉีกขาด 
       
        สอดรับกับผลการสำรวจเชิงวิจัย ไชลด์ วอทช์โปรเจคท์ ของสถาบันรามจิตติ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ชกมวยไทยบนเวทีมวยอาชีพตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานศึกษา สถานที่ราชการจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กภาคอีสานเกือบ 8,000 คน การขึ้นชกแต่ละครั้งเด็กจะได้รับเงิน 50-600 บาทหักให้ค่ายมวยครึ่งหนึ่ง
       
        ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่งานประชุมวิชาการรามาธิบดี รศ.พญ.จิรพร เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเรื่องการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็ก พบว่า แม้นักมวยเด็กจะมีความชำนาญในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะมือ และสายตาที่ดีกว่าเด็กทั่วไป แต่ข้อเสียก็มีอยู่มาก เห็นได้จากความผิดปกติของสมองที่สะท้อนความน่าเป็นห่วงออกมาหลายเรื่อง
       
       
 เริ่มจากสมองส่วนความจำ เมื่อเทียบกับเด็กปกติแล้ว กลุ่มนักมวยเด็กมีความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังพบการกระจายที่ผิดปกติของใยสมอง ซึ่งคล้ายกันกับความผิดปกติในคนที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จากการชน หรือเบรกแล้วชะงักกลับมาอย่างรุนแรง
       
        ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า
 สมองของนักมวยเด็กมีปริมาณธาตุเหล็กสะสมสูง เพราะสมองมีเลือดออกมาก เป็นสาเหตุของการทำลายเนื้อสมอง รวมไปถึงคือภาวะน้ำในสมองมาก จนอาจสกัดกั้นการเจริญเติบโตในสมอง ซึ่งเด็กที่อายุน้อยสมองยังไม่เติบโตเต็มที่
       
        ทั้งนี้ เมื่อเทียบระดับสติปัญญาหรือไอคิวของเด็กทั่วไปกับนักมวยเด็กผ่านการทดสอบจิตวิทยาเด็ก 6 ขวบ พบว่า ถ้าเด็กอยู่ในอาชีพชกมวยนานขึ้น มีโอกาสที่จะมีผลต่อไอคิวของเด็กจนนำไปสู่ปัญหาการเรียนรู้ในอนาคตได้
       
       
 "ยิ่งชกนาน และถูกชกซ้ำแล้วซ้ำอีก เลือดที่สะสมในสมองก็จะยิ่งมากขึ้น อันตรายก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย เพราะมีการสะสมของเหล็กสูงขึ้น ชี้ชัดให้เห็นว่า ยิ่งเด็กชกนาน สมองของเด็กก็จะยิ่งแย่ลง โดยเฉพาะบริเวณที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำจะมีความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ"
รศ.พญ.จิรพร เผยข้อมูลที่ได้จากงานวิจัย 
       
       


       
        สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ แม้จะเป็นผลการวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ แต่ก็เป็นข้อมูลบ่งชี้ให้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักมวยเด็ก โดยเฉพาะความบาดเจ็บของสมองจากการชกมวย อย่างไรก็ดี การศึกษาวิจัยต่อจากนี้ มีเป้าหมายจะทำกับเด็กนักมวย 300 คน ซึ่งติดตามตั้งแต่เริ่มชกจนกระทั่งเข้าสู่อาชีพในแต่ละปีเพื่อหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นในวงกว้างต่อไป
       
       
 เสนอ "มวยเด็ก" เป็นแค่ "กีฬา"
       

        จากผลการศึกษาวิจัยข้างต้น ทำให้หลายภาคส่วนพยายามหาทางออกเพื่อสุขภาพที่ดีของนักมวยเด็ก เรื่องนี้ ผศ.ดร.ศุกล อริยสัจสี่สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และสุขภาพ สถาบันกรมพลศึกษา วิทยาเขตกรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า ควรยกเลิกมวยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ที่จัดชกกันตามงานวัดหรือเวทีมวยต่างๆ นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนให้เป็นมวยกีฬาแทนมวยอาชีพที่เน้นการแข่งขัน หรือการต่อสู้ปะทะกัน พร้อมเสนอให้เปิดเป็น
 "หลักสูตรมวยไทย" ผ่านการฝึกฝนและป้องกันตัวอย่างถูกต้อง
       
        "มวยอาชีพ ต่างจากมวยกีฬาตรงที่ จะต้องทำให้เกิดอันตรายกับคู่ต่อสู้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้น็อคเอาท์ ถามว่า เอาเด็กมาชกมวยได้ไหม ทำได้ ทำได้อย่างไร เริ่มจากการคัดเลือกเลย พ.ร.บ.กีฬามวยกำหนดไว้ว่า ต้องเกิน 15 ปีขึ้นไป ส่วนครูต้องมีความรู้พอสมควร และเตรียมร่างกายเด็กให้พร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ รวมไปถึงการขึ้นชก ต้องเลือกคู่ชกให้เหมะสมทั้งน้ำหนักตัว และอายุ เรื่องอบอุ่นร่างกายก็สำคัญ ถ้าไม่ได้วอร์ม หรือวอร์มได้ไม่ครบทุกส่วน อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้" ผศ.ดร.ศุกลเผย ก่อนสะกิดพ่อแม่ ผู้ปกครองของนักมวยเด็กว่า
       
       
 "เอาเด็กขึ้นมาชกมวยได้เงินไม่เท่าไรหรอก ซึ่งเด็กเหล่านั้นในอนาคต เขาอาจจะไปประกอบอาชีพอื่นได้อีกมาก หรือแม้กระทั่งมาเรียนหลักสูตรมวย ต่อยอดเป็นครูสอนมวยไทย อย่างจา พนม เรียนจบสถาบันการพลศึกษา จ.มหาสาคาม เขาเก่งมาก เก่งทั้งมวยไทย และยิมนาสติก ถ้าเขามัวแต่ไปชกมวยตอนอายุ 10 ขวบก็คงไม่ได้เป็นจา พนมอย่างทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นต้องเลือกทางเดินให้ลูกอย่างถูกทาง"
       
        ด้าน รศ.พญ.จิรพร ผู้ทำวิจัยการบาดเจ็บสมองของนักมวยเด็ก เสริมว่า นอกจากกำหนดเรื่องอายุแล้ว การขึ้นชกในแต่ละครั้ง ควรมีการตรวจสุขภาพเด็กกลุ่มนี้เป็นระยะๆ ด้วย
       
       
 "ส่วนตัวมองว่า ศิลปะแม่ไม้มวยไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายร้อยปีแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ แล้วเชิดชูให้ขึ้นสู่สากลให้ได้ แต่การรักษาเหล่านี้ควรดูแลเด็กของเราด้วย มีกติกาที่ปกป้องเด็ก เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ ถ้าไม่ใส่ใจดูแล ปล่อยให้เด็กมีปัญหา โตขึ้นไปก็จะเป็นภาระมากกว่า 
       
       


       
       
 ดังนั้น ถ้าเด็กน็อคบนเวที อย่างน้อยๆ จะต้องทำ MRI เพื่อที่จะดูความผิดปกติ หรือกรณีที่ชกมานาน ก็ต้องตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีความอันตรายมากก็ควรจะต้องเลิกชก วิธีนี้ช่วยไม่ให้เด็กชกไปเรื่อยๆ จนสมองมันพังจนแก้ไม่ได้มีให้เห็นในนักมวยอาชีพหลายๆ คนที่พอแก่ตัวไปมือสั่นทำอะไรไม่ได้" รศ.พญ.จิรพร ฝากให้คิด
       
        ขณะที่ ดร.นพ วิทยา สังข์รัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เสนอว่า ถ้าต่ำกว่า 15 ปี ควรติดเซ็นเซอร์ที่ศีรษะ เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสมองของเด็ก
       
       
 ฟังแนวคิดระบบไอทีช่วยเหลือเด็ก
       

        ด้าน ศ.ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ ในฐานะประธานอนุกรรมการแพทย์ในวงการกีฬามวย ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ควรมีการพัฒนานระบบเทคโนโลยีการลงทะเบียนชกซ้ำเพื่อลดการบาดเจ็บของเด็ก 
       
       
 "มีงานวิจัยบอกว่า เด็กร้อยละ 30 ขึ้นชกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตามพ.ร.บ.กีฬามวยที่ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า การจะชกใหม่ในครั้งต่อๆ ไป ต้องเว้นช่วงไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์ ถามว่าปัจจุบัน แม้แต่ผู้ใหญ่เองชกกันเดือนละ 2-3 ครั้ง แล้วจะดูแลอย่างไร ส่วนตัวมองว่า ไม่มีทางดูแลได้ นอกจากจะเร่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีการลงทะเบียนการชกซ้ำ ถ้าเมื่อไรที่เทคโนโลยีนี้ขึ้นมาได้ ทุกสนามมวยถูกบังคับให้มีระบบนี้ การชกซ้ำก็จะทำไม่ได้ทันที
       
       
 "กรณีของเด็ก ทางฝ่ายอนุกรรมการฝ่ายแพทย์เริ่มคิดว่าจะเริ่มทำอย่างไรให้ป้องกันอุบัติเหตุของนักมวยเด็กได้ ทำไมถึงปล่อยให้เด็ก 3 ขวบขึ้นชกได้ คนที่รักษากฎของฝ่ายการกีฬาก็แจ้งว่า ในพ.ร.บ.กีฬามวยไม่ได้ห้ามไว้ ไม่ได้เขียนไว้เลยว่า 3 ขวบห้ามขึ้นชก ไม่ได้เขียนว่ากี่ขวบห้ามชก เพียงแต่เขียนว่า เด็กจะลงทะเบียนเป็นนักกีฬามวยได้ต้องอายุ 15 ปีแค่นั้น อ้าวแล้วยังไง ก็ห้ามไม่ได้สิครับ แล้วพ่อแม่ละ พ่อแม่ก็ห้ามไม่ได้ครับ บางท่านมาคุมเด็กข้างเวทีเลยด้วยซ้ำ"
       
        ดังนั้น การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ นพ.พรชัย บอกว่า ไม่ง่าย เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง ทางที่ดี ต้องหากลยุทธ์ที่เหมาะสมเข้าไปดำเนินการ อาทิ งานวิจัย หรือข้อเสนอแนะที่เป็นไปได้ เช่น เด็กต่ำกว่า 15 ขวบให้ชกได้ไม่เกิน 3 ยก ซึ่งเป็นข้อต่อรองที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต
       
        ส่วนความเป็นไปได้ในการเสนอไม่ให้ชกศีรษะ คุณหมอบอกว่า ตอบยาก เพราะ "มวย" เป็นศิลปะแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีท่าที่เกี่ยวข้องกับศีรษะอยู่หลายท่า
       
       
 "ภาคประชาชน" ร่วมด้วยช่วยเสนอแนะ
       

        ปิดท้ายกันที่ข้อเสนอแนะในการป้องกันการบาดเจ็บของเด็กนักมวยจากฟากภาคประชาชน ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ หนึ่งในคนทำงานศูนย์วิจัยฯ  เห็นด้วยว่า ให้ควรยกเลิกมวยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี
       
        "ตั้งแต่ที่ทำมวยเด็กมา ชาวต่างชาติให้ความสนใจกันมาก ซึ่งมากกว่าคนไทยด้วยซ้ำ เพราะไม่เชื่อว่าจะมีการทารุณกรรมอย่างมากในเมืองไทย เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีอยู่ 1 เคทที่เกาะสมุย พี่เลี้ยงเอามงคลฟาดหน้าจนตาบอด เลนน์แก้วตาแตก ไม่มีการรักษาพยาบาทเลย มิหนำซ้ำยังขู่ให้หมื่นเดียวจะเอาไหม ทางแม่ก็ต้องพาไปหาหมอ ปรากฎว่าเลนน์แก้วตาแตก
       
        นอกจากนี้ ยังมีการรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า เขาไม่เคยเห็นการทารุณกรรมเด็กมากเท่านี้ในโลก และไม่น่าเชื่ออีกว่า ขนาดพ่อแม่ยังเชียร์กันอย่างเอามัน เด็กบางคนมีพ่อแม่เป็นเทรนเนอร์ บางครอบครัว พ่อแม่ไม่ทำมาหากินอะไรเลย ฝากความหวังไว้กับลูกๆ ที่ขึ้นชกมวย"
       
       


       
        ด้าน สุพิช จันทรสิทธิ์ ผู้ฝึกสอนมวยไทย และมวยสากลสมัครเล่นในโรงเรียนกีฬา จังหวัดอุบลราชธานี ให้ทัศนะว่า กีฬาทุกชนิดส่งผลให้เกิดอันตรายด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการวางกฎระเบียบเพื่อลดการบาดเจ็บของผู้เล่น อย่างกรณีนักมวยเด็ก โปรโมเตอร์ รวมไปถึงพ่อแม่หลายคนขาดองค์ความรู้ เน้นการปะทะโดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน
       
       
 "มวยไทยเป็นกีฬาที่ควรอนุรักษ์ และส่งเสริม แต่ต้องให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อย่างปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับนักมวยเด็ก คือ ทักษะการฝึกยังไม่ดี สภาพร่างกายยังไม่มีความพร้อม การขึ้นชกหรือการแข่งขันบ่อยครั้งมากเกินไป ร่างกายจึงไม่ค่อยได้พัก ความบาดเจ็บก็จะเกิดขึ้นตามมา 
       
       
 สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในพ.ร.บ.กีฬามวย แต่ไม่ได้ไปบังคับใช้อย่างถูกต้อง ถามว่าบังคับใช้ไหม ใช้ แต่ยังไม่ครอบคลุมถึง ดังนั้นจึงฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ โปรโมเตอร์ ครู พ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกายของเด็ก" สุพิชเผย
       
        ทั้งนี้ ในฐานะครูสอนมวย สุพิช มองว่า ในการแข่งขันแต่ละครั้ง ถ้าไม่เริ่มพัฒนาเด็กตั้งแต่อายุยังเล็กก็ยากที่ขึ้นสู่อาชีพในอนาคต ดังนั้นถ้าต่ำกว่า 15 ปีเสนอให้เป็นสมัครเล่นไปก่อน มีอุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บของศีรษะ ฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป พอเข้าสู่อายุ 10 ขวบ อาจจะมีการไหว้ครูสวยงามแข่งขัน หรือแสดงทักษะต่างๆ เป็นต้น
       
       
 ปฏิเสธไม่ได้ว่า "มวยเด็ก" ทุกวันนี้ มีให้เห็นตั้งแต่เด็กเล็กๆ และส่วนใหญ่เป็นการชกแบบอาชีพ น้อยมากที่จะมีคำว่าสมัครเล่น พูดให้เห็นภาพก็คือ ชกเหมือนผู้ใหญ่ มีนวมกับกางเกงมวยเท่านั้น 
       
        แม้หลายคนจะเถียงว่า มวยไทยไม่ชกหัว แต่การเข้าไปดูของนักวิจัยก็ชี้ชัดให้เห็นว่า โดนหัวทุกรอบ บางรายบาดเจ็บจนไม่คุ้มกับค่ารักษา เพราะต้องเข้าใจว่า หากเกิดอันตรายขึ้นกับนักมวยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยตาม พ.ร.บ.กีฬามวย เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถจดทะเบียนนักมวยและได้สิทธิเรียกเงินชดเชยได้
       
       
 "ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่สมองหยุดการเจริญเติบโตแล้ว เราก็คงไม่คิดอะไรมากกับเรื่องพวกนี้ แต่กับเด็กที่เข้าสู่อาชีพตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกำลังเติบโต เรื่องนี้น่าเป็นห่วง" 
รศ.พญ.จิรพร หนึ่งในผู้ศึกษาวิจัยการบาดเจ็บทางสมองของนักมวยเด็ก ทิ้งท้าย 
       
        
เรื่องโดย Astv ผู้จัดการ Live
       
        ขอบคุณภาพประกอบ คุณ Mong_Actionlure จากเว็บไซต์ www.siamfishing.com
และอื่นๆ