site creator

เด็กไทย
แบกกระเป๋านักเรียน
หนักเกิน!!

ทำปวดหลัง คอ ไหล่ เสี่ยงเตี้ยระยะยาว
แนะมีตู้ล็อกเกอร์แบบต่างประเทศ


เด็กไทยแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกิน
เผย ไม่ควรแบกเกิน 15% ของน้ำหนักตัว

ชี้ทำหลังโค้ง ปวดไหล่ คอ หลัง เสี่ยงเตี้ยในระยะยาว ชงจัดตารางเรียนเหมาะสม

ไม่ให้เด็กแบกของมาเรียนมากเกินไป ควรมีล็อกเกอร์แบบต่างประเทศ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ 

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า นักเรียนไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 4 ต้องแบกกระเป๋าหนักเรียนที่หนักมากจนเกินมาตรฐาน


ซึ่งทั่วโลกกำหนดเกณฑ์น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมเอาไว้ คือ ไม่เกินร้อยละ 10 - 20 ของน้ำหนักตัว เช่น เด็กมีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม (กก.) ควรแบกกระเป๋าหนักเรียนหนักไม่เกิน 2 - 4 กก. เท่านั้น ส่วนประเทศไทยคิดเป็นค่ากลาง ๆ คือ ไม่เกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว ทั้งนี้ การแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากเกินไป จะมีผลกระทบทำให้กระดูกสันหลังโค้ง ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ บางคนเป็นระยะสั้น ๆ บางคนเป็นเรื้อรัง ซึ่งในระยะยาวอาจมีผลต่อพัฒนาการด้านความสูงได้ แต่ที่สำคัญคือเมื่อมีปัญหาสุขภาพย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียน

       
นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเตรียมศึกษาเรื่องน้ำหนักกระเป๋านักเรียนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกันของคณะกรรมการกิจการสังคมเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นควรว่าจะต้องเข้มงวดเรื่องน้ำหนักกระเป๋านักเรียนมากขึ้น

โดยขอความร่วมมือจากครู ให้พิจารณาจัดตารางเรียนที่เหมาะสม หากอุปกรณ์เยอะ ควรมีระบบจัดเก็บไว้ที่โรงเรียนเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันโรงเรียนในประเทศไทยแทบจะไม่มีเลย นอกจากนี้ต้องให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ และช่วยดูแลน้ำหนักกระเป๋าไม่ให้เกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว

โดยชั้น ป.1 - 2 แบกไม่เกิน 3 กก. ชั้น ป.3 - 4 ไม่เกิน 3.5 กก. และชั้น ป.5 - 6 ไม่เกิน 4 กก. ขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดกระเป๋าให้ถูกวิธี โดยควรเป็นกระเป๋าสะพายไหล่ทั้ง 2 ข้าง จัดวางสิ่งของให้สมดุล ไม่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการได้รับไปดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลง


"เครื่องมือทางการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายภาพของเด็กและเยาวชน”


เมื่อวันที่ 15 ก.พ.59
ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 กทม.

ทีมงานศูนย์วิจัยฯ นำโดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี , คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี รองประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ

เปิดการเสวนา เรื่อง “เครื่องมือทางการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายภาพของเด็กและเยาวชน”


ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการกิจการเด็ก เยวชน และผู้สูงอายุ ในคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและทราบถึงปัญหา ตลอดจนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากเครื่องมือทางการศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยโดยร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมต่อสุขภาวะทางกายภาพของเด็กและเยาวชน ตลอดจนกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ และติดตามการประเมินผล เพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 และยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของไทยที่เหมาะสมต่อไป โดยมี พลเอก อรุณ สมตน รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวรายงาน

หลักการและเหตุผล

มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดไว้ว่า

“การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาเด็กไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ ภูมิปัญญา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”


ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาวะของนักเรียนควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการศึกษา เนื่องจากสุขภาวะของนักเรียน ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็กในวัยเรียน และส่งผลต่อศักยภาพในการศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติต่อไป


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องสุขภาวะของนักเรียนเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากสภาพทั่วไปของเครื่องมือทางการศึกษาในสถานศึกษา ซึ่งหมายถึง สื่อหรืออุปกรณ์ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและเชื่อมประสานระหว่างองค์ความรู้ต่อนักเรียน ได้แก่ อุปกรณ์ในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ กระเป๋า อุปกรณ์การเรียน ตลอดจนสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ที่ยังไม่เหมาะสมและไม่เอื้อต่อการพัฒนาด้านการศึกษาของเด็กในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอน เช่น โต๊ะและเก้าอี้นักเรียน โดยไม่ได้คำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานและความเหมาะสมพอดีกับขนาดสัดส่วนร่างกายของเด็กนักเรียนในยุคปัจจุบันที่สภาพร่างกายของเด็กมีความแตกต่างจากในอดีต

ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดการนั่งในท่าที่ไม่ถูกต้องและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนของเด็กลดลง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังได้ระบุถึงปัญหาเรื่องจำนวนหนังสือเรียนของเด็กที่มากเกินไปในแต่ละวัน ทำให้เด็กต้องรับภาระในการสะพายกระเป๋านักเรียนที่หนักทุกวัน โดยเฉพาะเด็กในชั้นประถมศึกษา


ซึ่งผลการวิจัยได้เสนอแนะว่าเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาไม่ควรแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัว แต่สภาพปัจจุบันพบว่า ประมาณ 80% ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาไปโรงเรียนโดยแบกสัมภาระที่มีน้ำหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัว ซึ่งเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังของเด็ก และส่งผลต่อประสิทธิภาพและสมาธิในการเรียนรู้ของเด็กด้วย นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทาง และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมา


ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนสะท้อนถึงปัญหาการจัดการศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดียิ่ง ดังนั้น คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงเห็นควรจัดเวทีเสวนาเรื่อง “เครื่องมือทางการศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายภาพของเด็กและเยาวชน”


โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมเสวนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและทราบถึงปัญหา ตลอดจนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากเครื่องมือทางการศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายภาพของเด็กและเยาวชนโดยเปิดเวทีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูล ผลกระทบต่างๆ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมต่อสุขภาวะทางกายภาพของเด็กและเยาวชน


ตลอดจนกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ และแนวทางการติดตามประเมินผล รวมทั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบต่อไป ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 และยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยที่เหมาะสมต่อไป